หยุด! คำว่า “มนุษย์ป้า” กันเถอะ...


        กลายเป็นศัพท์ใหม่ประเด็นฮิตในรอบปีกับศัพท์คำนี้ “มนุษย์ป้า” ที่ไม่ใช่การพูดถึงพี่สาวของแม่หรือผู้หญิงที่สูงวัยกว่าแม่แต่อย่างใด แต่เป็นคำที่มีความหมายโดยนัย เนื่องจากในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คได้มีการเผยแพร่พฤติกรรมและเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวของบุคคลจำพวกหนึ่ง โดยขนานนามบุคคลจำพวกนี้ว่าเป็น “มนุษย์ป้า” ซึ่งชาวเน็ตได้ให้คำนิยามไว้ว่า มนุษย์ป้าเป็นบุคคลไม่จำกัดอายุ แต่มนุษย์ป้าส่วนใหญ่จะเกิดในเพศหญิงหรือชายวัยกลางคนขึ้นไป และจะมีพฤติกรรมที่ชอบทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่สนใจคนรอบข้างและไม่คำนึงถึง มารยาทในสังคม แม้การกระทำนั้นจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นก็ตาม โดยบุคคลเหล่านี้จะถือว่าตนอาบน้ำร้อนมาก่อน ทำให้มีความคิดว่าสิทธิทุกอย่างต้องเป็นของตนก่อน จึงมีการแสดงออกทางพฤติกรรมและกิริยาที่เห็นแก่ตัว ดูน่าเกลียด และชอบทำเนียนไม่สนใจผู้อื่น โดยพฤติกรรมที่แสดงถึงความเอารัดเอาเปรียบอย่างหน้าตาเฉยนี้จะถูกนำมาบอก เล่าและแชร์กันในโลกออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้สังคมร่วมกันตำหนิ

พฤติกรรม ของมนุษย์ป้าที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่นำมาแชร์ในโลกออนไลน์บ่อยๆ เช่น การแซงคิว การทำเสียงดังโวยวาย การใช้สายตาจิกกัด การไม่รักษามารยาทในการกิน การไม่มีระเบียบวินัยเห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตน การทำพฤติกรรมแปลกๆเป็นจุดสนใจและรักษาสิทธิของตัวเองมากจนเกินไป รวมไปถึงการใช้บริการสาธารณะที่แสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวต่างๆ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมหยาบคายและละเมิดสิทธิของคนในสังคมอย่างไม่เกรงใจใคร ซึ่งการแชร์พฤติกรรมเหล่านี้จะมีการแชร์เป็นคำพูดบอกเล่าเรื่องราว การถ่ายภาพพร้อมคำบรรยาย รวมไปถึงการถ่ายคลิปแฉพฤติกรรมมนุษย์ป้าในรูปแบบต่างๆ


หยุด! คำว่า “มนุษย์ป้า” กันเถอะ...


นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ความเห็นว่า พฤติกรรมของบุคคลที่ถูกเรียกว่ามนุษย์ป้าเหล่านี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของบุคคลและการมีบุคลิกภาพที่แสดงออกถึง ความเอาแต่ใจตัวเอง บางคนติดนิสัยจากความเคยชิน เช่นเคยทำนิสัยแบบนี้ที่บ้านก็เอามาทำกับสังคมนอกบ้าน เรียกได้ว่าเป็นคนที่ยังเรียนรู้มารยาททางสังคมได้ไม่ดีพอ ชอบทึกทักเข้าใจเอาเองตามความคิดของตน อายุและช่วงวัยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากบุคคลที่มีอายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้มีอารมณ์ ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิดง่าย อีกทั้งบุคคลเหล่านี้อาจเป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาทางจิตหรือป่วย ทำให้ตั้งตนเป็นจุดศูนย์กลางและไม่สนใจผู้อื่น ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว

นพ.กัมปนาท ยังกล่าวต่ออีกว่า หากเรามีโอกาสพบเจอบุคคลที่มีพฤติกรรมที่เรียกว่ามนุษย์ป้า วิธีที่ดีที่สุดคือการเจรจาไม่ใช่การแอบถ่ายเพื่อนำมาประจาน ซึ่งอาจได้ความสะใจและถือเป็นการแชร์เพื่อตีแผ่สังคม แต่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สิ่งที่ควรทำคือการพูดตรงๆ ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ เพราะถือเป็นการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับบุคคลที่ทำพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการพูดที่ไม่ใส่อารมณ์ในน้ำเสียง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ส่วนมากจะมีความทะนงตนว่าเป็นผู้อาวุโสกว่า ผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะมาสั่งสอนไม่ได้เพราะถือว่าเป็นการไม่เคารพผู้หลัก ผู้ใหญ่ ปัญหานี้ควรจะมีการแก้ไขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทุกคนควรเปิดใจให้กว้างและรู้จักให้อภัย คนที่ทำผิดเมื่อรู้ตัวเองว่าทำตัวไม่เหมาะสมก็ควรจะปรับปรุงตัว พยายามฝึกควบคุมความต้องการของตัวเองโดยไม่ทำตัวแบบคนเห็นแก่ตัว เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ เป็นสังคมที่ทุกฝ่ายพยายามเข้าใจและให้อภัยซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้พฤติกรรมมนุษย์ป้าหมดไปจากสังคมไทย

ปัจจุบัน “มนุษย์ป้า” กลายเป็นคำศัพท์ร่วมสมัยที่ถูกใช้มากขึ้น และกลายเป็นพฤติกรรมของบุคคลที่สังคมรังเกียจโดยในโลกออนไลน์ยังคงมีการแชร์ และแฉพฤติกรรมของบุคคลนิสัยแย่ที่ถูกเรียกว่า“มนุษย์ป้า” อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เราควรช่วยกันหยุดพฤติกรรมที่เรียกว่า “มนุษย์ป้า” เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์