แต่ขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อ ไม่เพียงบนรถไฟ แต่รวมทั้งในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ในซอยเปลี่ยว ฯลฯ ต้องรู้จักการระวังดูแลตนเองด้วย
"สเปรย์พริกไทย" เป็นหนึ่งในอาวุธคู่กายชนิดแรกๆ ที่ได้รับการแนะนำให้หญิงสาวกลุ่มเสี่ยงพกติดตัวเพื่อปกป้องและพาตัวหนีรอดจากสถานการณ์ในยามคับขันได้
ทว่าในทางกฎหมาย สเปรย์พริกไทยกลับถูกจัดอยู่ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หมวดการควบคุมวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า ห้ามจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง โดยมีบทลงโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายถึงที่มาของการจัด "สเปรย์พริกไทย" เข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ประเภทที่ 4 ว่า ปี 2535 ว่า มีการปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.วัตถุมีพิษไปเป็น พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยพิจารณาจาก 2 ประเด็น คือ ดูสารประกอบที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และสอง พิจารณาว่าถ้าสารนั้นสามารถนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ก่ออาชญากรรมหรือทำร้ายผู้อื่น
แต่เดิมถึงแม้ไทยจะควบคุมตัววัตถุมีพิษธรรมดาก็ตาม แต่ขณะนั้นยังไม่มีผู้ผลิตหรือนำเข้าใช้ในประเทศไทย พอมาเป็น พ.ร.บ.วัตถุอันตรายในปี 2535 แล้ว โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยนี้ สเปรย์พริกไทยซึ่งเข้าในองค์ประกอบที่ 2 ซึ่งในต่างประเทศมีรายงานให้เห็นเนืองๆ ว่านำไปก่ออาชญากรรม จึงเข้าในกรณีนี้