สืบเนื่องจากชาวสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวพร้อมภาพที่น่าสะเทือนใจ จากเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “คุณนายน้อย น่าร๊าก” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีใจความระบุใต้ภาพว่า ผู้ชายคนดังกล่าวต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากฉีดยาฆ่าแมลงไล่แมลงที่อยู่บนฝ้า ขณะเดียวกันมีสายเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ และเมื่อชายคนดังกล่าวได้กดรับสาย จึงเกิดเหตุระเบิดขึ้นทันที ทำให้มีบาดแผลทั่วบริเวณศีรษะ ใบหน้า และแขนทั้งสองข้าง
“ไม่น่าเชื่อว่า แค่กระป๋องยาฆ่าแมลง + โทรศัพท์มือถือ ทำให้มีสภาพเช่นนี้... ผู้ชายในรูปภาพ คือพี่ชายของเราเอง (พี่กล้า) ลูกพี่ลูกน้องกัน สาเหตุที่ทำให้สภาพพี่เค้าเป็นเช่นนี้ เนื่องจากเค้าไปฉีดยาฆ่าแมลงเพื่อไล่แมลงที่อยู่บนฝ้า เจาะรู เพราะจะพ่นยาเข้าไปฆ่าแมลง พ่นไปได้ไม่นานได้มีคนโทรศัพท์เข้ามือถือ พี่ชายกดปุ่มรับสายเท่านั้นแหละ เกิดระเบิดขึ้นทันที คลื่นโทรศัพท์มือถือมีความถี่สูง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดระเบิดได้ เพราะส่วนมากสเปย์กระป๋องยาฆ่าแมลงจะอัดแก๊สอยู่ในนั้น รวมทั้งตำแหน่งที่ฉีดยาแคบ ไม่มีที่ระบายมาก จึงเกิดแก็สสะสมทำให้ระเบิดขึ้นมา ลักษณะคล้ายๆ เวลาเข้าปั๊มน้ำมัน ก็จะมีคำเตือนห้ามกดรับโทรศัพท์ แต่กรณีนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เลยไม่ได้รับคำเตือนใดๆ ขอเตือนเพื่อนๆ ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ละยี่ห้อ ควรระวังและไม่ควรรับโทรศัพท์ในขณะที่ใช้มันอยู่ ซึ่งอาจจะได้รับอันตรายเช่นนี้ได้ เตือนเพื่อความหวังดีค่ะ โชคดีที่พี่ชายไม่ตาบอดและเสียชีวิต (สงสารพี่) ”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ รวมถึงเหตุใดจึงเกิดการระเบิดในลักษณะดังกล่าวขึ้น
“เดลินิวส์ออนไลน์” สอบถาม ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา อาจารย์ภาควิศวะคอมพิวเตอร์ คณะวิศวะกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงข้อสังเกตที่เป็นประเด็นจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ศ.ดร.ประภาส เปิดเผยว่า อุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากว่า การที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ตรงบริเวณนั้นต้องเป็นห้องปิดทึบ และไม่มีช่องระบายอากาศจนทำให้อากาศบริเวณนั้นไม่เกิดการถ่ายเท พร้อมทั้งต้องมีประกายไฟ หรือมีวัตถุไวไฟ ที่เป็นชนวนก่อให้เกิดการระเบิด ถึงจะสามารถเกิดการระเบิดขึ้นได้ โดยข้อมูลเบื้องต้นตามที่สังคมออนไลน์ได้แชร์กันนั้น ประเมินได้ว่า ถึงแม้โทรศัพท์จะมีความร้อนก็ไม่สามารถทำให้เกิดการระเบิดได้ อีกทั้งไม่มีชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ของโทรศัพท์มือถือที่เป็นประกายไฟได้เลย แต่หากเสียบที่ชาร์จกับโทรศัพท์มือถือขณะรับสาย จะมีความแตกต่างกัน คืออาจมีความเป็นไปได้จะก่อให้เกิดการระเบิด เนื่องจากขณะที่กำลังชาร์จโทรศัพท์มือถือ ขนาดของแรงดันไฟฟ้าเท่ากับ 220 โวลท์ ที่เคลื่อนผ่านเข้ามายังโทรศัพท์ จึงมีโอกาสเกิดประกายไฟจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้น
ศ.ดร.ประภาส ยังเผยอีกว่า หากนำชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์หรือซากโทรศัพท์มือถือที่ระเบิดมาตรวจสอบอย่างละเอียด จะทราบได้ว่าแท้จริงแล้ว สาเหตุหรือปัจจัยใดที่ก่อให้เกิดการระเบิด ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงหรือการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้โทรศัพท์มือถือ แนะนำเลี่ยงการเสียบที่ชาร์จแบตขณะกำลังใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งเสียบจากเต้ารับหรือต่อสาย USB จากเครื่องคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊ค เนื่องจากโทรศัพท์อาจเกิดความร้อนทำให้ช๊อตใบหู หน้าและมือ รวมถึงถูกไฟดูดขณะกำลังเล่นโทรศัพท์มือถือ จนอาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้พยายามติดต่อเจ้าของผู้ที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “คุณนายน้อย น่าร๊าก” ที่เป็นผู้โพสต์เรื่องราวทั้งหมดลงบนโลกออนไลน์ จนมีผู้คนนับพันคนแชร์ต่อกันมากมาย เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้
อย่างไรก็ตาม หากมีความระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค หรืออุปกรณ์ อิเล็คทรอนิคส์ สามารถทำให้อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายหรือทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต มีอัตราและปริมาณการเกิดอุบัติเหตุลดน้อยลงได้เช่นกัน
เดลินิวส์ออนไลน์