อีโบลา กับความเชื่อที่ผิดๆ

การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกตอนนี้ นอกเหนือจากการสาธารณสุขที่ย่ำแย่แล้ว ความเชื่อแบบผิดๆก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างยากลำบาก

แม้ว่าจะมีความพยายามในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลามากเพียงใด แต่ดูเหมือนว่า ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวในฝั่งแอฟริกาตะวันตก ดีขึ้นแม้แต่น้อย ซ้ำร้าย กลับเลวร้ายลงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นทุกวัน
 
ที่ผ่านมาธนาคารโลก หรือเวิร์ลด์แบงก์ รวมถึงชาติมหาอำนาจทั้งหลาย ได้พยายามระดมเงินทุน เพื่อให้การช่วยเหลือรัฐบาลของไลบีเรีย เซียร์รา ลีโอน และกินี 3 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมากที่สุดในตอนนี้ แถมยังเป็นประเทศที่มีระบบการสาธารณสุขที่ย่ำแย่ และยังติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอีกด้วย ทำให้ความหวังของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่จะได้เห็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้สิ้นสุดลง เริ่มเลือนลางขึ้นทุกที
 
หลายฝ่ายมองว่า ต่อให้มีการทุ่มงบประมาณมากเพียงใด ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในพื้นที่ดังกล่าว แต่หากว่าประชาชนของประเทศนั้นๆยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในการป้องกันตัวเอง รวมถึงวิธีปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ เมื่อนั้น การควบคุมโรคก็จะเป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับความเชื่อผิดๆที่ชาวบ้านหลายคนยังคงยึดถือ ยิ่งเป็นการทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในครั้งนี้ ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
 
ในช่วง 1 - 2 วันที่ผ่านมา ทางการเซียร์รา ลีโอน ต้องระดมกำลังทหารจำนวนมาก เพื่อไปรักษาความปลอดภัยตามคลินิก และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่ง ในยามที่มีการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลเซียร์รา ลีโอนให้เหตุผลว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เนื่องมาจาก บรรดาญาติ และเพื่อนสนิทของผู้ป่วยอีโบลา พยายามที่จะเข้ามาชิงตัวผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า คนที่ป่วยด้วยไวรัสชนิดนี้ โอกาสที่จะรอดชีวิตแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องเสียชีวิตจริงๆ ก็ควรไปเสียชีวิตในหมู่บ้านที่ตนเองเกิด และเติบโตมา ไม่ควรมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแบบนี้
 
ความเชื่อดังกล่าว ทำให้การทำงานของกลุ่มมแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ว่าพวกเขาจะพยายามอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจ แต่ดูจะไม่เป็นผลแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ ก็ยังมีรายงานว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของเซียร์รา ลีโอน กินี และไลบีเรีย ยังมีความเชื่อที่ว่า ไวรัสอีโบลานี้ เกิดจากชาวต่างชาติ ที่ไม่ใช่คนในท้องที่ ซึ่งพวกเขาพยายามนำไวรัสดังกล่าวมาแพร่ เพื่อที่จะได้ครอบครองดินแดน และยึดพื้นที่ของพวกเขาไป ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปให้การช่วยเหลือ จะมีชาวบ้านบางกลุ่มที่แสดงอาการต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ต่างชาติ
 
ความเชื่อเหล่านี้ ยังไม่รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆเช่นฐานะที่ยากจน ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ เลือกที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้านเมื่อมีอาการป่วย มากกว่าการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิก ทำให้พวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่า เขาอาจจะกำลังป่วยด้วยเชื้อไวรัสอีโบลา นอกจากนี้ ชาวบ้านจำนวนมากยังมองว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยใกล้ตาย หรือมีอาการหนักจริงๆเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปโรงพยาบาล หากยังไม่ปรากฏอาการร้ายแรง
 
สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ในแถบแอฟริกาตะวันตกรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากนี้ คงต้องมีการพิจารณากันใหม่อีกครั้ง ถึงแนวทางในการช่วยเหลือ ที่อาจจะต้องเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปรักษาผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อให้การแพร่ระบาดหลังจากนี้ มีอัตราลดลง

อีโบลา กับความเชื่อที่ผิดๆ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์