ตามฝัน สู่“ดอยเชียงดาว”ดินแดนดอกไม้งาม แห่งขุนเขาศักดิ์สิทธิ์
“เชียงดาว” เป็นชื่อของภูเขาและชื่อของอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงดาว เพี้ยนมาจากคำว่า “เปียงดาว” หรือ “เพียงดาว” ที่คนโบราณเรียกขานถึงภูเขาสูงใหญ่โดดเด่นทัดเทียมกับดวงดาว และเพี้ยนกลายมาเป็นชื่อเชียงดาวเช่นทุกวันนี้
“ตะลอนเที่ยว” ได้ยินมานานเกี่ยวกับเรื่องราวของดอยเชียงดาว ทั้งเรื่องของธรรมชาติที่งามแปลกไม่เหมือนใคร เรื่องราวเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และตำนานเก่าแก่ของล้านนาที่เกี่ยวพันกับขุนเขา อีกทั้งยังได้เห็นภาพถ่ายสวยๆ ที่น่าประทับใจ จนในที่สุดต้องตัดสินใจเก็บกระเป๋าเดินทางมาเยือนดอยเชียงดาวในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เหตุที่เลือกเดินทางในช่วงนั้นเนื่องจากเป็นช่วงที่ “ดอกเทียนนกแก้ว” ซึ่งเป็นดังนางเอกของดอยเชียงดาวกำลังเบ่งบาน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับดอยเชียงดาวกันก่อน หลายคนคงรู้แล้วว่า ดอยหลวงเชียงดาวคือดอยที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ (ในที่นี้จะขอเรียกเทือกเขาที่ประกอบด้วยยอดเขาน้อยใหญ่ว่า “ดอยเชียงดาว” และเรียกยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขานี้ว่า “ดอยหลวงเชียงดาว”) ยอดสูงสุดมีความสูง 2,225 เมตร ดอยเชียงดาวเป็นเทือกเขาหินปูนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียน มีอายุระหว่าง 230-250 ล้านปี เป็นหมู่หินราชบุรีของไทย ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลและซากสัตว์ที่มีหินปูน มีหลักฐานว่าเทือกเขาแห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนเพราะยังมีฟอสซิลเปลือกหอยให้เห็นบนก้อนหิน
และความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของเชียงดาวก็คือ มีพรรณไม้ที่เรียกกว่า “พืชกึ่งอัลไพน์” เนื่องจากดอยเชียงดาวเป็นเทือกเขาต่อเนื่องกับเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีพืชอัลไพน์ที่พบได้ในเทือกเขาสูง 3,000 เมตรขึ้นไป พืชพันธุ์ที่ผ่านการปรับตัวและเติบโตที่ดอยเชียงดาวจึงเป็นพืชกึ่งอัลไพน์ หรือพืชเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่ดอยเชียงดาวแห่งเดียวเท่านั้น
ดอยเชียงดาวยังเป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ซึ่งไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทั้งยังมีกฏระเบียบที่เข้มงวดมากกว่าอุทยานแห่งชาติ แต่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาหาความรู้หรือชมธรรมชาติตามพื้นที่ที่กำหนดได้
ไม่เพียงเท่านั้น ดอยเชียงดาวยังเป็นดังภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวล้านนา เกี่ยวพันกับตำนานของ “เจ้าหลวงคำแดง” เทพอารักษ์ผู้เป็นใหญ่เหนือเทพทุกองค์ที่ชาวล้านนานับถือ เชื่อกันว่าที่สถิตอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าหลวงคำแดงอยู่ที่ถ้ำเชียงดาว และในทุกวันพระ เจ้าหลวงคำแดงจะนัดประชุมผีทุกตนในเชียงใหม่ และจะมาชุมนุมกันที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้
การเดินทางมายังดอยเชียงดาวในครั้งนี้จึงไม่เป็นเพียงการท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นการท่องเที่ยวด้วยจิตสำนึกอนุรักษ์ ทุกก้าวที่เดินขึ้นสู่ดอยเชียงดาวจึงควรเดินด้วยความเคารพ ทั้งเคารพในความเชื่อเก่าแก่ของคนพื้นที่ และเคารพในธรรมชาติ
เส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ดอยหลวงเชียงดาวมี 2 ทางด้วยกัน คือเส้นทางเด่นหญ้าขัดมีระยะทาง 8.5 กม. เป็นทางลัดเลาะไหล่เขา มีทั้งทางราบและทางชันสลับกันเป็นช่วงๆ และเส้นทางปางวัว ระยะทาง 6.5 กม. มีระยะทางสั้นกว่าแต่ความชันมากกว่า “ตะลอนเที่ยว” จึงเลือกเส้นทางขาขึ้นทางเด่นหญ้าขัด และขาลงทางเส้นปางวัว จะได้สัมผัสบรรยากาศทั้งสองเส้นทาง
หลังจากนั่งโขยกเขยกบนรถกระบะโฟร์วีลมาเกือบ 2 ชม. จากตัวอำเภอเชียงดาว เราก็เดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางเดินเท้าขึ้นไปยังดอยเชียงดาวทางเส้นเด่นหญ้าขัด
เริ่มก้าวแรกของเส้นทางสู่ดอยหลวงเชียงดาวด้วยเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขา เป็นทางเดินแคบๆ ที่ต้องเดินเรียงเดี่ยว ด้านขวาเป็นเนินเขาสูง ด้านซ้ายเป็นหุบเขาลึก เวลาเดินจึงต้องรักษาสมดุลให้ดี และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเลือกเดินขึ้นทางเด่นหญ้าขัดก็เพราะในเส้นทางนี้จะมีดอกไม้ป่าให้ชมตลอดเส้นทาง และอย่างที่บอกไปแล้วว่า “ตะลอนเที่ยว” ตั้งใจจะมาชม “ดอกเทียนนกแก้ว” ดอกไม้ป่าที่ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” เข้าใจแล้วว่าธรรมชาติคือสุดยอดศิลปินผู้รังสรรค์ความงามแก่โลกใบนี้
“เทียนนกแก้ว” เป็นไม้ดอกล้มลุก อยู่ในกลุ่มเดียวกับวงศ์เทียน เป็นพันธุ์ไม้หายากและในธรรมชาติพบที่ดอยเชียงดาวที่เดียวในเมืองไทยเท่านั้น เทียนนกแก้วจะขึ้นอยู่ในพื้นที่สูง 1,500-1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีอากาศหนาว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ตามโขดหินในป่าดิบเขา ดอกเทียนนกแก้วถูกสร้างให้มีรูปร่างเหมือนนกแก้วจริงๆ กลีบดอกสีชมพูเข้มแกมแดงและขาว กลางดอกมีแต้มสีเหลือง ดอกเป็นรูปหลอดกว้าง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันทำให้ดูคล้ายนกแก้วตัวเล็กๆ กำลังโผบิน บ้างบินอยู่เป็นกลุ่มๆ บ้างบินโดดเดี่ยว บ้างบินเป็นคู่ ดูเริงร่าอยู่ในหมู่ใบไม้สีเขียว แต้มสีสันในเส้นทางเดินสู่ดอยเชียงดาว แต่ใครที่อยากเห็นคงต้องรอช่วงปลายปี เพราะเทียนนกแก้วจะมีในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เท่านั้น
เดินต่อไปอีกพักหนึ่งก็มาถึงสามแยกซึ่งเส้นทางเด่นหญ้าขัดมาบรรจบกับเส้นทางปางวัว แล้วรวมเป็นเส้นทางเดียวสู่ยอดดอย เราพักกินข้าวกลางวันกันบริเวณนี้ก่อนจะมุ่งหน้าสู่เส้นทางที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา รอบข้างเป็นดอยต่างๆ อาทิ ดอยสามพี่น้อง ดอยปิรามิด ดอยหนอก เป็นต้น เรามุ่งหน้าสู่อ่างสลุง ซึ่งเป็นจุดพักกางเต็นท์ของเราบริเวณตีนดอยหลวง ระหว่างทางมองไปเห็นต้น “ปาล์มรักเมฆ” หรือ “ค้อเชียงดาว” ขึ้นอยู่ตามยอดผาหินปูน ปาล์มชื่อน่ารักนี้ก็เป็นพืชที่หายากพบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว ขึ้นกระจายตามเขาหินปูน บริเวณที่โล่งลาดชัน ที่ระดับความสูง 1,700-2,150 เมตร
พูดถึงสภาพเส้นทางสู่ดอยเชียงดาวก็ไม่ได้โหดร้ายมากมายนัก เราเดินผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา มีดอกไม้ให้ชมระหว่างทางพอเพลินๆ มีทางราบสลับทางชันให้พักเป็นช่วงๆ บางช่วงที่เป็นทางชันยาวๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งเดิน ค่อยๆ หายใจ ค่อยๆ ก้าวให้สม่ำเสมอ ก็ช่วยลดความเหน็ดเหนื่อยเกินจำเป็นไปได้มาก ดังนั้นเกือบๆ 4 โมงเย็น เราก็เดินเท้ามาถึง “ดงเย็น” เขตป่าดิบชื้นซึ่งสัมผัสได้ถึงอากาศที่เย็นชื้น ต้นไม้บริเวณนี้มีมอส เฟิร์น และตะไคร่เกาะจนเหมือนใส่เสื้อสีเขียว บริเวณนี้เป็นดังประตูสู่อ่างสลุงที่พักของเราในเย็นนี้ รวมเวลาตั้งแต่เริ่มเดินมาถึงจุดกางเต็นท์ที่อ่างสลุงราว 6 ชม.
บางคณะใช้เวลาอยู่บนดอยเชียงดาว 2 วัน 1 คืน ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่ากำลังพอเหมาะ ไม่เหนื่อยเกินไปและยังได้ชมสิ่งต่างๆ บนดอยเชียงดาวอย่างไม่ต้องเร่งรีบ
ไฮไลท์ของการเดินป่าส่วนใหญ่อยู่ที่การชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก ที่ดอยเชียงดาวก็เช่นกัน จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ต้องใช้เวลาเดินขึ้นไปราว 45 นาที สภาพอากาศช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนยังไม่คงที่นัก ในเช้านี้เมฆหมอกและเมฆฝนจึงปกคลุมไปทั่วทั้งยอดโดย แม้สายลมก็ไม่สามารถพัดเมฆก้อนใหญ่ให้สลายไปได้ พระอาทิตย์จึงไม่โผล่มาให้ชมโฉมในเช้าวันนั้น
แต่ดอยกิ่วลมก็ยังคงมีสิ่งน่าสนใจให้ชมไม่แพ้พระอาทิตย์ขึ้น นั่นก็คือดอกไม้ป่าหลากชนิดหลากสีสัน บางชนิดเป็นพืชกึ่งอัลไพน์พบที่นี่ที่เดียว ดอกไม้เหล่านั้นมีทั้ง “ฟองหินเหลือง” สีเหลืองสดใสขึ้นอยู่ตามโขดหิน “หรีดเชียงดาว” สีน้ำเงินอมม่วง “ฟ้าคราม” กลีบสีฟ้ากลมมนน่ารัก “ขาวปั้น” ดอกกลมเป็นพุ่ม “หญ้าดอกลาย” กลีบสีขาวมีลายจางๆ ที่กลีบดอก “ห้อมดอยหลวง” กลีบสีม่วงบอบบาง “ชมพูพิมพ์ใจ” กลีบกลมสีชมพูสดใสส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ และอีกมากมายหลายดอกที่พวกเราป้อนคำถามใส่พี่คมไม่หยุดปาก
ดอยกิ่วลมยังแบ่งเป็นกิ่วลมเหนือ และกิ่วลมใต้ โดยเฉพาะกิ่วลมใต้ที่มีกล้วยไม้ป่า "เอื้องตาเหิน" ออกดอกชูช่อสีขาวตามต้นไม้สวมเสื้อผ้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่ดอกไม้ดาวเด่นเป็นไฮไลท์ของที่นี่เห็นจะหนีไม่พ้น"ชมพูเชียงดาว" ที่บานเป็นทุ่ง สีชมพูสดใสไปทั่วบริเวณ หากใครที่ชอบหรือสนใจพันธุ์ไม้แปลกๆ คงต้องใช้เวลาอยู่ที่ดอยกิ่วลมสักครึ่งวันคงจะเต็มอิ่มกับดอกไม้ใบหญ้าอย่างแน่นอน
และที่น่าดีใจอย่างยิ่งก็คือ “ตะลอนเที่ยว” มีโอกาสได้เห็น “กวางผา” หรือ “ม้าเทวดา” สัตว์สงวนที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มทีในเมืองไทย ในช่วงบ่ายๆ ที่แสงแดดโผล่พ้นก้อนเมฆหลังจากที่ฝนขาดเม็ด เรานั่งกันอยู่ที่เต็นท์ที่พัก ก่อนที่ลูกหาบจะส่งเสียงเรียกอย่างตื่นเต้นให้ออกมาดู “เยือง” หรือกวางผา ที่ออกมายืนอาบแดดอย่างสง่างามบนชะง่อนผาหินปูนด้านหลังเต็นท์ที่พัก เมื่อมองด้วยตาเปล่าเจ้ากวางผาเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวไปมา ถ้าลูกหาบไม่ชี้ให้ดูก็คงไม่มีทางมองเห็นด้วยตัวเอง แต่เมื่อดึงภาพระยะไกลมาดูในกล้องถ่ายรูปก็ได้เห็นเท้าสีขาวทั้งสี่ข้างเหมือนกับใส่ถุงเท้า มองเห็นกีบเท้าที่เกาะอยู่บนชะง่อนหิน เห็นขนสีขาวสะอาดบริเวณลำคอ มองเห็นไปถึงเขาเล็กๆ สองข้าง และเห็นถึงแววตาของสัตว์รักสงบและงามสง่าตัวนี้ เราหันไปยิ้มให้พี่คมอย่างดีใจ เมื่อพี่คมบอกว่าพวกเราโชคดีมากที่มาครั้งแรกก็ได้เห็นกวางผา เพราะบางคนมาสามสี่ครั้งแล้วก็ยังไม่ได้พบง่ายๆ เช่นนี้
เริ่มบ่ายคล้อยลง ก็เป็นเวลาที่เราจะเดินขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว ขึ้นไปสู่ความสูง 2,225 ม. ซึ่งเป็นความสูงอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และดอยฟ้าห่มปก จ.เชียงราย แต่ดอยหลวงเชียงดาวถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศที่ใช้วิธีการเดินเท้าเข้าถึง
จากจุดกางเต็นท์ใช้เวลาราว 30 นาทีในการขึ้นไปถึงยอดดอยหลวง แต่เส้นทางเดินขึ้นนั้นหวาดเสียวไม่ใช่น้อยเพราะเป็นทางชัน บางช่วงชันถึงกว่า 45 องศาขึ้นไป ดีว่ามีแง่งหินให้เกาะปีนไปเป็นชั้นๆ ปีนไปถึงกลางทางแล้วหันหลังมองเบื้องล่าง แม้ทิวทัศน์จะสวยงามมากแต่ความสูงชันก็ไม่เป็นรองดอยอื่นๆ เลย อีกทั้งระหว่างทางก็ยังคงมีไม้ดอกพืชล้มลุกกึ่งอัลไพน์สวยๆ ให้ชมอีกมากมาย
และเมื่อขึ้นมาถึงด้านบนก็ได้ชมสิ่งสวยงามยิ่งกว่า นั่นคือทิวทัศน์แบบ 360 องศา บนยอดดอยหลวงเชียงดาว เบื้องหน้าคือดอย 3 พี่น้อง ทางขวาคือดอยปิรามิด ทางซ้ายคือดอยกิ่วลม และโดยรอบก็มีทิวเขาน้อยใหญ่ช่วยเสริมให้ทิวทัศน์ยิ่งงดงาม ยิ่งมีดอก “ฮ่อมดอยหลวง” ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มๆ ทั่วบริเวณยอดดอย แสงแดดสีทองส่องกระทบกลีบสีม่วงบอบบางดูราวกับส่องประกาย ยิ่งมองยิ่งประทับใจ แม้ภาพถ่ายก็ไม่สามารถบันทึกภาพงดงามนี้ได้อย่างที่ตาเห็น
ทิวทัศน์อันสวยงามแปลกตา พืชพันธุ์อันบอบบางและอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม บวกกับตำนานเรื่องเล่าของเหล่าเทพและขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้รู้สึกว่า “ดอยเชียงดาว” มีเสน่ห์ไม่เหมือนดอยไหนๆ อีกทั้งการปีนเขามาสู่จุดสูงสุดจึงไม่ใช่การพิชิตยอดดอยหลวงเชียงดาว แต่เป็นการมาเพื่อชื่นชมและแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ
"ดอยเชียงดาว" ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหงบางส่วน ตำบลเมืองงาย ตำบลเมืองคอง ตำบลเชียงดาว และตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 521 ตารางกิโลเมตร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเปิดให้ท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติได้เป็นเวลา 5 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ถึง 31 มี.ค. ของทุกปี นักท่องเที่ยวต้องติดต่อขออนุญาตเข้าเขตฯ เชียงดาวล่วงหน้า อย่างน้อย 15 วัน อีกทั้งเขตฯ จะอนุญาตให้มีผู้เดินทางขึ้นดอยได้ไม่เกิน 150 คนต่อวัน สอบถามโทร. 0 5345 5802
บนดอยเชียงดาวไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีห้องน้ำ และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ จึงต้องนำน้ำดื่มน้ำใช้ทั้งหมดขึ้นไปเอง รวมถึงเสบียงอาหารต่างๆ ด้วย อัตราค่าจ้างลูกหาบอยู่ที่คนละ 450 บาท/คน/วัน (แบกน้ำหนักไม่เกิน 20 กก.) ส่วนคนนำทางคนละ 550 บาท/คน/วัน หรือสามารถซื้อทัวร์ไปกับบริษัทรับจัดทัวร์เดินป่าต่างๆ ได้ โดยจะมีทีมงานจัดการเรื่องอาหารและน้ำดื่มให้ หรือสอบถามเรื่องคนนำทางและลูกหาบได้ที่ คมสัน อินสม โทร. 08 56176144, 08 61862128
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!