กลายเป็นข่าวโด่งดังที่ส่งผลกระทบต่อร้านค้าและผู้ประกอบการอาหาร หลังเกิดข่าว "เลือดไก่ในข้าวมันไก่ก่ออหิวาต์เทียม..." หรือล่าสุด "เรียกเก็บแอปเปิลมะกันปนเปื้อนเชื้อโรค" งานนี้ผู้บริโภคพากันสะดุ้งไปตามๆ กัน
เริ่มจากกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา
ทำหนังสือขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ และอ้างอิงข้อมูลจากสำนักระบาด กรมควบคุมโรค (คร.) ว่า พบรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากข้าวมันไก่ และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าปัญหาคือมาจากเลือดไก่ โดยเชื้อที่พบคืออหิวาต์เทียม หรือเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) โดยจากการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้ติดจากตัวเลือดไก่โดยตรง แต่มาจากกระบวนการผลิต ซึ่งมีความเป็นไปได้ การผสมน้ำเกลือเพื่อคงสภาพแข็งของเลือด อาจมีผลทำให้เชื้อปนเปื้อน ประกอบกับต้มไม่สุกจึงทำให้เชื้อเจริญเติบโตขึ้น
ปัญหาคือหนังสือดังกล่าวกลับมีชื่อของ นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
และระบุว่า งดข้าวมันไก่ กรณีที่เกิดขึ้นจึงยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้น กระทั่ง นพ.วิชัยต้องตั้งโต๊ะแถลงว่า หนังสือดังกล่าวเป็นของ สสจ.นครราชสีมาจริง แต่ไม่ได้ระบุว่างดหรือห้ามกินข้าวมันไก่แต่อย่างได ขณะที่กรมควบคุมโรค (คร.) นำโดย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ออกมายืนยันว่าสามารถรับประทานข้าวมันไก่ได้ปกติเช่นกัน
ส่วนเลือดไก่หากจะรับประทานต้องต้มให้สุกโดยสังเกตเลือดไก่ที่ต้มสุกง่ายๆคือ ต้องมีสีเข้ม และเนื้อแข็งกว่าเลือดไก่ที่สุกไม่ดี ที่มีสีแดงๆ กลิ่นคาวและเนื้อนิ่มหยุ่น หากรับประทานแบบสุกๆ ต้มเกิน 75-80 องศาเซลเซียส นานกว่า 15 นาที ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้ออหิวาต์เทียมที่ส่งผลให้เกิดอุจจาระร่วงได้