เปรียบเทียบโปรโมรชั่น มือถือคิดตามวินาที ของ3ค่ายว่าแพงขนาดไหน
หลังจากมีคำสั่งให้ชะลอการประมูล 4 จี ออกไปเมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดมีความชัดเจนจากรัฐบาลแล้วว่าจะเร่งผลักดันการเปิดประมูล 4 จี อย่างเต็มที่ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ส่วนปัญหาการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีกลายเป็นเรื่องที่สังคมจับตามองถึงการทำงานของ กสทช. โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เรียกร้องให้ กสทช. เร่งประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้บริโภคอย่างจริงจัง หลังพบว่าการคิดค่าโทรเป็นวินาทีของค่ายมือถือผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่าเดิมขณะที่สิทธิประโยชน์กลับลดลง
นายรุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวว่าจากการตรวจสอบโปรโมชั่นที่ 3 ค่ายมือถือออกมา พบว่าเป็นอัตราค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับแพ็กเกจเดิมที่ไม่คิดค่าโทรเป็นวินาที
ซึ่งจากการสำรวจของ คอบช. พบว่าเอไอเอสมีการออกแพ็กเกจทั้งหมด 8 แพ็กเกจ มีเพียงแพ็กเกจเดียวที่คิดค่าโทรเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษ ส่วนดีแทคออกโปรโมชั่นวินาทีมา 2 แพ็กเกจ และทรูออกเพียง 1 แพ็กเกจ ซึ่งเป็นโปรโมชั่นที่ไม่ปัดเศษ แต่เมื่อคำนวณเป็นนาทีพบว่าค่าบริการสูงกว่าที่ กสทช.กำหนดไว้ เช่น กำหนดคิดเป็น 1.67 สตางค์ต่อวินาที เมื่อโทรครบ 60 วินาที หรือ 1 นาที เป็นเงิน ทั้งสิ้น 1.2 บาทต่อนาที ซึ่งเกินกว่าที่ กสทช.กำหนด
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า หลังจากนี้ กสทช. ต้องเร่งประกาศหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลป้องกันการถูกเอาเปรียบของผู้บริโภคอย่างจริงจัง นอกจากนี้ กสทช.ควรรวมเรื่องการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีให้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการประกาศ "การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยการอาศัยการใช้เครือข่ายหรือโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ...." ซึ่งกำลังจะมีการจัดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 12 มี.ค.นี้ด้วย
ส่วนการเปิดประมูล 4 จี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเปิดประมูล 4 จี ภายในปี 2558 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ตั้งขึ้นรวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ และจะต้องทำควบคู่ไปกับการปรับกลไกของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ตั้งขึ้นใหม่
ด้านนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) กล่าวว่าแม้การจัดประมูลเป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่ในส่วนของรัฐบาลก็มีความพร้อมและเต็มใจที่จะสนับสนุนให้เกิดการประมูลคลื่นใหม่ แต่คงต้องให้ กสทช. ไปหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปจาก คสช. เพื่อขอดำเนินการเปิดประมูลต่อหลังจากมีคำสั่งให้ชะลอการเปิดประมูลเมื่อปีทีผ่านมา
cr:thaipbs
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!