เที่ยวตามรอยอดีตกับ 8 โศกนาฏกรรม (ต่อ)
5 เกาะตะรุเตา เกาะกลางทะเลสถานกักกันนักโทษ โดยมีผู้คุมเป็น ฉลาม จระเข้ และคลื่นลม
“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามลายูคำว่า “ตะโละเตรา” แปลว่า มีอ่าวมาก ตะรุเตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล แหล่งธรรมชาติที่สวยงาม จนเป็นที่กล่าวขวัญ ถึงแม้จะสวยงามแค่ไหน แต่ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็น "ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา" ที่คุมขังนักโทษที่ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ เพราะขนาบข้างด้วยท้องทะเลอันกว้างใหญ่
ปี พ.ศ.2479 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงสี่ปี พระยาพหลพลหยุหเสนาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศให้เกาะตะรุเตา เป็นสถานที่ฝึกอาชีพพร้อมทั้งกักกันนักโทษคดีอุกฉกรรจ์และนักโทษการเมือง ด้วยภูมิประเทศที่ยากกับการหลบหนี เพราะเป็นเกาะใหญ่อยู่กลางทะเลลึก รอบเกาะเต็มไปด้วยฉลาม แถมในคลองก็มีจระเข้ชุกชุม คลื่นลมมรสุมก็รุนแรง ไม่มีเรือผ่านไปมา มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการหลบหนี กรมราชทัณฑ์ในสมัยนั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ทำการสำรวจ จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษขึ้น ณ สถานที่นี้
พิกัดเกิดเหตุ
เกาะตะรุเตา เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามัน ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร แหล่งธรรมชาติที่สวยงามแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร
เที่ยวตามรอยอดีต
อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่รักและหลงไหลในโลกใต้น้ำ เป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะและในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก
6 สะพานสารสิน สักขีพยานของความรัก อันเป็นนิรันดร์ที่แลกมาจาก “การสูญเสีย”
ตำนานความรักที่อยู่คู่กับสะพานสารสินมาเนิ่นนาน จนบางครั้งเรายังเผลอเรียกสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานรักสารสิน” เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ความรักของเขาก็ไม่ได้หวือหวาอะไร แต่คนทั้งคู่เลือกจะจบชีวิตลงที่นี่ โกดำ แซ่ตัน หนุ่มขับรถสองแถว กับ กิ๋ว กาญจนา แซ่หงอ หญิงสาวนักศึกษาวิทยาลัยครู ผู้ที่มีหน้าตาทางสังคม ด้วยฐานะของโกดำเป็นเพียงคนหาเช้ากินค่ำ ภาวะทางสังคมที่ต่างกันทำให้ความรักที่เบ่งบานในใจถูกขัดขวาง โดยครอบครัวของฝ่ายหญิง กีดกันสารพัดทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ ผ่านไปหลายปีความรักที่มีต่อกันก็ไม่มีจืดจาง แต่มันก็ไม่สามารถทำลายกำแพงในใจของครอบครัวฝ่ายหญิงได้ ความรักที่ไม่มีวันสมหวัง หมดสิ้นหนทาง ทำให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดขึ้น เมื่อ เขาและเธอนัดลักลอบพบกันอีกครั้งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 ทั้งสองเลือกที่จะจบชีวิตไปพร้อมกัน โดยนำผ้าขาวม้าผูกร่างทั้งสองติดกัน แล้วโดดลงจากสะพานไปพร้อมกัน เรื่องราวความรักของคนทั้งคู่ผูกติดไว้ที่นี่ “สะพานสารสิน”
พิกัดเกิดเหตุ
สะพานสารสินเป็นสะพานที่อยู่ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต เป็นสะพานแรกที่มีการสร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปภูเก็ต เชื่อมต่อระหว่างบ้านท่าฉัตรไชยและบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงา โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402มีความยาวทั้งหมด 660 เมตร
เที่ยวตามรอยอดีต
ปัจจุบันสะพานสารสิน ไม่ได้ให้รถข้ามแล้วแต่กลายเป็นจุดชมวิวแทน ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและมีการปรับปรุงสร้างเป็นหอชมวิวทิวทัศน์ และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
7 ศาลพระนางเรือล่ม อนุสรณ์สถานแห่งความระลึกถึง พระนางอันเป็นที่รักยิ่งขององค์รัชกาลที่ 5 ที่ต้องมาสังเวยชีวิตสิ้นพระชนม์ลง ณ กลางแม่น้ำ
เรื่องราวของสถานที่ที่เกิดโศกนาฏกรรมอันนำมาซึ่งความเศร้าสลดของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อเราได้สูญเสีย “พระอัครมเหสี” แห่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ไปอย่างไม่มีวันกลับท่ามกลางสายน้ำไหลของจังหวัด นนทบุรี อันเป็นที่มาของสมัญญานามว่า “พระนางเรือล่ม”
สมเด็จ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4ลำดับที่ 50ในจำนวนทั้งหมด82พระองค์ มีพระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5เมื่อเจริญพระชนมายุได้17พรรษาหลวง และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” พระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
สมเด็จ พระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19พรรษา ต่อมาเมื่อ วันที่ 31พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ขณะกำลังทรงพระครรภ์ได้ 5เดือน ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมายังพระราชวังบางปะอิน โดยการเดินทางในครั้งนี้ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เสด็จประทับบนเรือพระที่นั่งกับพระราชธิดา มีพระพี่เลี้ยงตามเสด็จ เมื่อเรือที่ประทับแล่นตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ถูกเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (พระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถบรมราชชนนี) แล่นแซง อีกทั้งนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ บังคับเรือไม่อยู่ จึงทำให้เรือล่มลง แต่ไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปช่วยเหลือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ เนื่องจากเกรงกลัวกฎมณเฑียรบาลที่ว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร ทั้งที่พระองค์ก็ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงต้องสิ้นพระชนม์ไปตามกัน
พิกัดเกิดเหตุ
แม่น้ำเจ้าพระยา วัดกู้ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในอดีตสถานที่นี้คือ จุดเกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ยุคแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5
เที่ยวตามรอยอดีต
เพราะเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงสิ้นพระชนม์จากเรือพระที่นั่งล่มที่หน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของพระองค์ โดยศาลแห่งนี้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้ได้ตลอดเวลา สิ่งที่นิยมนำมาถวายพระองค์ท่านก็คือ กล้วยเผา มาพร้าวอ่อน และพวงมาลัยมะลิสด
8 สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ร่องรอยแห่งความสูญเสียเมื่อธรรมชาติเอาคืน
เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดแผ่นดินไหวใจกลางเกาะสุมาตรา ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ไปยังพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย รวม 13 ประเทศ กว่า 230,000 ชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับคลื่นยักษ์ใจร้ายกวาดเอาแม้กระทั่งชีวิต ความสูญเสียจากธรรมชาติที่เคยให้คุณประโยชน์ ครั้งนี้ธรรมชาติสวมบทโหดเข้ามาโจมตีถาโถมโดยไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ พัดพาความสุข ความรัก ครอบครัว ทรัพย์สิน บ้านเมืองสวยงามที่เคยมีลงคืนกลับไปในทะเลคลั่ง
พื้นที่ ที่เคยมีอาคารบ้านเรือนสวยงามกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย บางคนรอด บางครอบครัวเหลือเพียงแค่นามสกุล นักท่องเที่ยวจากอีกฝั่งโลกก็ต้องมาจบชีวิตที่นี่ ทรัพย์สินที่เคยลำบากยากเข็ญสร้างมาทั้งชีวิตหายไปชั่วพริบตา โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่คนไทยเคยพบเจอ ถูกแปรเปลี่ยนด้วยคำสั้นๆ “สูญเสีย”
พิกัดเกิดเหตุ
สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ม.2 บ้านน้ำเค็ม อำเภอบางม่วง ตำบลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
เที่ยวตามรอยอดีต
ที่เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แต่ถูกสึนามิกลืนกินไปจนหมดสิ้น วันนี้ผืนดินแห่งนี้กลายเป็น ”สวนอนุสรณ์สึนามิ” สถานที่ให้ระลึกถึงพลังธรรมชาติอันโหดร้าย มีรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งชาวบ้านและชาวต่างชาติสลักที่กำแพงตามทางเดิน เลียบเคียงชายหาด พร้อมทั้งเรือลำหนึ่งที่ถูกแรงของคลื่นยักษ์พัดขึ้นมาตั้งตระหง่านอยู่
เป็นยังไงบ้างค่ะ 8 สถานที่ท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์ที่จารึกความโหดร้ายจากโศกนาฏกรรม ไม่ว่าจะเป็นความรัก การแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น การทารุณกรรม ความเศร้าจนควบคุมสติไม่อยู่ทำเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย ทำเรื่องที่ไม่มีวันเรียกคืนวันที่ดีกลับมาได้ คงไว้แค่ความทรงจำอันเลวร้าย ตั้งสติให้มั่น...ทำสิ่งที่ถูกที่ควร เพราะเราเองคงไม่อยากเป็นหน้าประวัติศาสตร์แห่งโศกนาฏกรรมรายต่อไป เราหวังว่าเวลาจะละลายความทรงจำที่ฝังแน่นให้เจือจางลงได้บ้าง
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!