แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ


จากประเด็นร้อนนักแสดงซีรีย์ฮอร์โมนเต้นบนรถไฟฟ้า-จับดอกซากุระ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมารยาทและวัฒนธรรมทั้งหลายของญี่ปุ่นที่คนไทยเพิกเฉย ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างแท้จริง


"อรรถ บุนนาค" พิธีกร นักเขียน ที่เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นผู้เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และได้กล่าวถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นในหลากหลายประเด็น ที่คนไทยควรทำความเข้าใจและพึงเคารพ ตามอย่าง "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" 

ในสายตาของสังคมญี่ปุ่นปี 2557 นักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าประเทศคงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกแล้ว

สังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เริ่มคุ้นเคยกับคนไทยที่ไปเที่ยวแต่ยังมี"เรื่องแปลกๆ" เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวไทยที่คนญี่ปุ่นอาจสงสัย เพราะตามเว็บบอร์ดของคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันเองเริ่มมีเสียงสะท้อนมาว่าคนไทยทำตัวแปลกปลอมในที่สาธารณะของญี่ปุ่น ส่งเสียงดังในที่สาธารณะ ไม่ยอมปรับตัวหรือรุนแรงขนาดที่ว่าทัวร์ไทยในญี่ปุ่นราวกับทัวร์จีนในไทยก็ไม่ปาน

ได้โอกาสดีนั่งพูดคุยกับ "อรรถ บุนนาค" นักเขียน พิธีกรลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น แน่นอนว่า เขาไปญี่ปุ่นมานับครั้งไม่ถ้วน และโตเกียวก็เป็นเหมือนบ้านอีกหลังของเขา รู้จักเมืองนี้ดีชนิดเรียกว่า "หลับตาเดินได้" แม้จะทำงานและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ไทย แต่ทุกๆ ปี หรือบ่อยกว่านั้นเขาจะไปญี่ปุ่นเสมอ และเพราะคุณแม่เป็นญี่ปุ่นจึงไปเยือนตั้งแต่ยังเล็ก ทั้งยังใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยและปริญญาโทในแดนซากุระ เห็นที จากนี้ไป จะเรียกเขาอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "กูรูญี่ปุ่น" ตัวจริง

ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมา อรรถจึงคลุกคลีทั้งสังคมไทยและญี่ปุ่น เข้าใจสองฟากวัฒนธรรมเป็นอย่างดี เขารู้ว่าธรรมชาติบางอย่างของคนสองประเทศนี้แตกต่างกัน และเขาแบ่งปันเล่าให้ฟังหลากหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเสน่ห์ของโตเกียว, เกร็ดเที่ยวญี่ปุ่นให้สนุก , คนไทยกับสังคมญี่ปุ่น และธรรมชาติการเที่ยวของคนไทย มีเรื่องให้น่าคิดตามอยู่ไม่น้อยและรับรองว่า ไม่มีใครพูดได้สนุกกูรูพูดเสียเอง




เสน่ห์รถรางในเขตเมืองเก่า “โตเกียว”

กูรูญี่ปุ่น เล่าว่า "โตเกียวเป็นเมืองมีเสน่ห์ วุ่นวาย มีด้านมืดสว่าง และสวยงามส่วนตัวมีความทรงจำทั้งดีไม่ดีที่นี่  แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเมืองใหญ่  ชอบเดินดู เดินเล่น เข้าร้านหนังสือหรือร้านกาแฟ ชอบค้นหาเส้นทางนอกเหนือจากไกด์บุ๊คที่มีอีกมาก"

"ในโตเกียวมีเส้นทางรถรางที่จะเข้าไปในซอกหลืบของเมืองได้มากๆ เป็นรถรางในเขตที่เป็นเมืองเก่า คนโตเกียวบางคนก็อาจไม่รู้ว่าโตเกียวมีรถราง หรือรู้แต่ยังไม่เคยนั่ง  แต่ที่ตัวเองได้รู้จักก็เพราะเคยเรียนปริญญาโทในย่านนี้  รถรางในโตเกียวมี 2 สาย คือ สายอาราคาวา  และอีกสายคือ เซเตรายะ รถรางนี้จะมีสถานีหนึ่งชื่อโอซึกะ เชื่อมกับรถไฟสายยามาโนเตะของโตเกียว ราคาก็ถูกราว 100 กว่าเยน  ถ้าซื้อตั๋ววันก็ยิ่งถูกไม่ถึง 1,000 เยน"

"การนั่งรถรางในโตเกียวสนุกมากนะ  ซื้อตัววันนั่งแล้วลงทีละสถานี ซึ่งแต่ละสถานีก็มีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ย่าน จะมีร้านค้าเล็กๆ ในแต่ละท้องที่ซึ่งเป็นร้านของคนแถวนั้นมาจับจ่ายซื้อของ  มีร้านอร่อยที่คนแถวนั้นไปกินเราก็ไปดูว่ามีอะไรในย่านนั้นๆ บางทีก็ค้นพบร้านขายของสารพัดสารเพของเรโทรต่างๆ ร้านหนังสือเก่าที่ราคาถูกมาก ได้เจอของแปลกๆ จากร้านพวกนี้"

"ผมว่า การท่องเที่ยวแบบนี้เราได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เอง ถ้าเป็นผม ผมสนใจหนังสือ  ไปไหนมาไหนผมก็จะไปดูอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือไว้ก่อนที่หยิบหนังสือฟรี ห้องสมุดแต่ละย่าน  ร้านหนังสือเก่า ร้านหนังสือใหม่ ถ้าเอาสิ่งที่เราชอบมาตั้งการเดินทางของเราก็ยิ่งน่าประทับใจและเป็นประสบการณ์ที่ดีของเรา และน่าจะดีกว่าการเดินทางแบบที่คนอื่นจัดให้ด้วยซ้ำ"

"เวลาไปย่านใหม่ๆ ก็สังเกตร้านอร่อยในท้องที่ต่างๆ ง่ายๆ คือถ้ามีคนมาเข้าคิวยาวๆ ก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าของอร่อย ผมก็ใช้วิธีแบบนี้เวลาไปเดินในย่านที่ไม่รู้จัก"



แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ


กินอร่อยและดี-มีเทคนิค

ในฐานะกูรูญี่ปุ่นอรรถเล่าถึง เทคนิคกินของอร่อย ดี และถูกในระหว่างเที่ยวญี่ปุ่นให้ฟัง 

"กินอาหารดีราคาไม่แพงในญี่ปุ่น ต้องกิน Lunch Set (อาหารชุดกลางวัน)  เพราะจะถูกมากและคุณภาพดีเหมือนกับเมนูปกติต้องไปกินเวลาประมาณ 11.30-13.30น. คุ้มค่ามากๆ เขาทำอาหารชุดกลางวันเพื่อดึงดูดลูกค้าพนักงานบริษัทคือ เป็นการตลาดให้พนักงานบริษัทมาใช้ร้านจัดเลี้ยงตอนเย็น  เราก็ควรจะใช้โอกาสนี้ไปกินร้านแพงๆได้ด้วย"

"อีกอย่างคือ หากไปพักเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในญี่ปุ่นที่สามารถทำอาหารในที่พักได้บ้าง  ให้ไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณหลัง 6 โมง หรือหลัง 1 ทุ่ม แต่ละที่จะมีการติดป้ายลดราคาสินค้าซึ่งถูกมาก บางทีก็เป็นแกงถุงบางทีก็ของสดเอามาปรุงลองแล้วก็อร่อยดี สนุกด้วย ได้อารมณ์เหมือนกินอาหารพื้นบ้านเหมือนแม่ทำ ถ้าไปกันหลายๆ คน ก็ต่างคนต่างเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบเอามาปรุง มาอุ่นแชร์กันกินจะได้รู้ว่าของฉันไม่อร่อย ของเธออร่อยกว่าทำให้ได้ลองอะไรใหม่ๆ"

"ขอแนะนำให้เอาเนื้อญี่ปุ่นมาทำอาหารไทยจะอร่อยมากๆ  ถ้าทำยำเนื้อ ลาบเนื้อน้ำตกเนื้อ ก็จะอร่อยกว่าเนื้อไทย 100 เท่า  อร่อยจนมหัศจรรย์มากจริงๆ ส่วนตัวบอกเลยว่าถ้าไปร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นก็ต้องสั่งเมนูอะไรที่เป็นเนื้อ เพราะเนื้อที่นี่อร่อยมาก  หรือถ้าไปฤดูร้อนก็แนะนำให้กินลูกท้อเพราะอร่อยและถูกมาก"

"อีกอย่างที่สุดยอดคือ  ต้องไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ตามชั้นใต้ดินที่จะรวบรวมร้านอาหารและขนมดีๆ อร่อยๆมาไว้ ไม่ต้องไปตามหาเลย ร้านพวกนี้จะมีให้ชิมได้ด้วย เวลาประมาณ 1 ทุ่ม เขาก็จะลดราคาเราซื้อกลับบ้านได้ ถ้าเป็นคนที่ชอบกินก็แนะนำให้ไปจะชอบแน่ๆ"


ที่นี่ไม่มีวัฒนธรรมทิป

สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งหลาย อรรถไขข้อสงสัยให้ว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นไม่มีวัฒนธรรมการทิปในการบริการต่างๆ หรือหากจะมี ก็เป็นที่เฉพาะมากๆ

"รถแท็กซี่ก็ไม่ต้องทิป ที่นี่มีระบบทิปแต่เฉพาะโรงแรมแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า ′เรียวกัง′ ซึ่งเขาจะต้อนรับเราด้วยพนักงานหญิงที่แต่งกิมโมโนและรินชาให้เราเราก็จะให้ทิปหลังเขารินชาให้แต่การทิปที่โยกังก็ต้องมีแบบแผนคือต้องใส่ซองให้เขาด้วย"

"ถ้าเป็นโรงแรมต่างๆ ก็ไม่ต้องทิปเลย  แต่โรงแรมใหญ่บางแห่งถึงจะการชาร์จค่าบริการ 10% มาบ้าง จริงๆ ญี่ปุ่นมีจิตใจบริการอยู่สูง อย่างร้านค้าส่วนใหญ่มีน้ำเปล่าน้ำชาฟรี หรือบางร้านกาแฟหลังอาหารที่ฟรีก็ยังมีเลย"


เที่ยวสนุกเพราะ "รายละเอียด"

สำหรับคนญี่ปุ่น ที่ใครๆ ก็ร่ำลือถึงความ "คิขุ" จนเป็นที่น่าสงสัยว่า คนของเขาคิขุจริงจังขนาดไหน อรรถอธิบายให้ฟังว่า "คนญี่ปุ่นมีความคิขุอยู่ในตัวสูงมากจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของคนญี่ปุ่นไปแล้ว  บางเรื่องเป็นป๊อบคัลเจอร์หรือเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่กลายมาเป็นอัตลักษณ์ญี่ปุ่น และญี่ปุ่นก็เอาความกระจุกระจิกน่ารักมาปรับเรื่อยๆ ให้เข้ากับชีวิต อย่างคิตตี้ ดูก็รู้ทันทีว่าเป็นญี่ปุ่น แต่มันก็เอามาจากความเป็นตะวันตกนั่นล่ะ   มาผสมผสานให้กลายเป็นญี่ปุ่น ความคิขุและละเอียดอ่อนของญี่ปุ่นสะท้อนมาถึงเมืองของเขา  มองเห็นทั่วทุกหัวระแหงจริงๆ อย่างฝาท่อระบายน้ำก็จะออกแบบต่างกันไปในแต่ละเขต ดึงเอาลักษณะเด่นของท้องที่นั้นๆ มาทำลายฝาท่อระบายน้ำหรือมีทั้งแบบธรรมดาๆที่เป็นลายตารางก็ยังคิดมาแล้ว ออกแบบให้เป็นตารางไม่เหมือนกัน""

"รายละเอียดน่าสนใจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นสนุกน่าสนใจ อย่างเช่น แผนที่ในบางชุมชนก็เป็นการวาดมือมีนักวาดภาพประกอบของแต่ละท้องที่นั้นเป็นคนวาด หรืออย่างร้านค้าในชุมชนก็มีป้ายบอกราคาที่แต่ละร้านทำเอง เขียนแนะนำด้วยลายมือของพนักงาน หรือพนักงานบางคนก็แนะนำแบบวาดรูปในแบบของตัวเอง ยิ่งตามร้านหนังสือเล็กๆ ยิ่งน่าสนใจมาก เพราะเขาจะคัดหนังสือตามความชอบของผู้จัดการร้านโดยเขียนแนะนำเล็กๆ  สั้นๆ  ไว้ด้วย   ต่อให้เป็นร้านเชนก็ยังคัดสรรต่างๆ กันไปตามชุมชนนั้นๆ มันก็เลยน่ารักละเอียดอ่อน"

ญี่ปุ่นมุม "ไม่คิขุ" ไม่ใช่ไม่มี

ความละเอียดอ่อนหรือคิขุของญี่ปุ่นนั้นคงพอรู้จักกันดีแต่มุมที่คนไทยคาดไม่ถึงหรือ "แปลก"  ก็มีไม่น้อย

อรรถเล่าว่า  "คนญี่ปุ่นสุดโต่งคือดีสุดเลวสุด มีหมด หรือภาพที่เราคิดว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนสะอาดมาก เพราะในที่สาธารณะมีระเบียบเรียบร้อยมาก แต่บางทีไปเห็นห้องส่วนตัวก็มีแบบรกมากๆ ก็มีหรือมีคนที่มีอาการทางจิตที่สะสมของจนเป็นบ้านขยะอย่างนั้นก็มี ญี่ปุ่นมีมุมสุดโต่งมากๆ"

"บางทีเขาก็มีการแสดงออกหลากหลายทางวัฒนธรรม  อย่างมีกลุ่มคนที่เป็นผู้ชายแท้ๆ  ที่ชอบแต่งเป็นผู้หญิง  เพราะชอบให้ร่างกายตัวเองสัมผัสกับเสื้อผ้าของผู้หญิง  ทั้งที่คนๆ  นั้นไม่ได้เป็นคนที่แปลงเพศแล้วหรือเป็นเกย์เลย สังคมญี่ปุ่นก็มีพื้นที่ให้คนเหล่านี้แสดงออกคือ มีร้านเสื้อผ้าผู้หญิงให้ผู้ชายเหล่านี้เช่า ซึ่งมีทั้งแบบแต่งเป็นแม่บ้าน เป็นพนักงานออฟฟิศ หรือแบบเซ็กซี่ พวกเขาก็จะแต่งตัวเป็นผู้หญิงไปเดินในเมือง ผู้ชายพวกนี้ก็เป็นผู้ชายทำงานบริษัททั่วไปมีครอบครัวและแต่งงานแล้วปกติ แต่ก็เหมือนมีงานอดิเรกที่เขาชอบและต้องแอบครอบครัวมาทำโดยไม่ให้รู้ก็เป็นอีกความแปลกของญี่ปุ่น"


เข้าใจ"มืออาชีพญี่ปุ่น"

อรรถเปิดเผยอีกธรรมชาติของความเป็นคนญี่ปุ่นที่น่ายกย่องชื่นชมคือ ความมีศักดิ์ศรีในอาชีพของทุกๆ คนในสังคม

"คนญี่ปุ่นมีศักดิ์ศรีในอาชีพสูงมาก สังคมมีความเท่าเทียมกันค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับประเทศในตะวันตก  อย่างหากคุณประกอบอาชีพขับแท็กซี่ในญี่ปุ่น  เขาจะรับคุณขึ้นไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน  และเขาจะมีตังค์ทอนแน่นอน  เพราะเขาเตรียมตังค์ทอนมาไว้กับตัวเป็นเศษเหรียญสมมติว่าค่าแท็กซี่  370 เยน   คุณให้แบงก์ 1,000 เยน  แท็กซี่จะทอน 630 เยน พร้อมกับนับเหรียญ 10  เยนให้เป๊ะ  พร้อมใบเสร็จ...หรือหากเป็นพนักงานตามร้านอาหารและพนักงานการบริการต่างๆ เขาจะมีจิตวิญญาณบริการสูงและดีมาก"

เมื่อมองภาพกว้างของความเป็นมืออาชีพและมีศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ของชาวญี่ปุ่นแต่ละคนก็สะท้อนออกมาให้เห็นความเป็นระเบียบของสังคม ประเด็นนี้อรรถสะท้อนให้ฟังว่า "บ้านเมืองญี่ปุ่นเป็นระเบียบสูงทั้งรถไฟ รถเมล์ รถรางอยู่ในระบบหมด  ถ้ารวนทั้งระบบ เขาจะมีการเตรียมการในสภาวะฉุกเฉินดีมาก   สมมติรถเสียไป 3 นาที เขาจะมีการแจกบัตรให้คุณรับเพื่อไปยื่นที่โรงเรียนหรือที่ทำงานว่า คุณสายเพราะรถเสีย สมมติว่าคุณอยู่ที่จุดเชื่อมต่อกับรถสายที่มีปัญหาอยู่เขาก็จะประกาศว่าขณะนี้รถสายนี้ๆ มีปัญหาอยู่เพราะอะไร  แล้วก็จะมีนายสถานีมายืนแนะนำว่า คุณสามารถเปลี่ยนไปขึ้นสายรถใดแทนได้บ้าง ญี่ปุ่นจัดการเรื่องสภาวะฉุกเฉินหรือภัยพิบัติต่างๆ ได้ดีมาก"

"อย่างรถเมล์ที่ญี่ปุ่นมาถึงตรงเวลาเป๊ะแบบวินาที สมมติรถมาถึงก่อนเวลาก็จะจอดรอผู้โดยสารแต่ขณะเดียวกันถ้าขึ้นรถเมล์มาแล้ว คนยังนั่งไม่หมด เขาก็จะยังไม่ออกรถรอให้คนนั่งครบก่อนค่อยออกรถ  ถ้ารถแน่นมีคนยืนก็รอให้ยืนมั่นคงทุกคนก่อนนอกจากนี้ ยังมีส่วนที่นั่งซึ่งจัดไว้ให้คนแก่ คนตั้งครรภ์หรือคนพิการจะเป็นเก้าอี้สีเทา  หรือเรียกว่า ′ซิลเวอร์ซีท′  ไว้ให้โดยเฉพาะและคนที่ยืนใกล้ๆ ก็ต้องปิดสัญญาณมือถือ เพราะสัญญาณมือจะรบกวนเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจที่คนแก่หรือคนพิการนั่งบริเวณนี้และข้อห้ามคือ  ห้ามใช้โทรศัพท์บนรถเมล์ถ้าใช้เขาจะประกาศด่าออกไมค์ว่า  กรุณางดใช้โทรศัพท์มือถือ  หรือถ้าจะใช้โทรศัพท์กรุณาลงจากรถ  ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวเขาก็จะประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ  หรือเขาอาจประกาศบอกให้คนข้างๆ สะกิด"

จริงเหรอ? คนไทย"เสียงดัง"มาก ในที่สาธารณะญี่ปุ่น 

อรรถเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอคนไทยในญี่ปุ่นด้วยตัวเองว่า เขาเคยเห็นคนไทยเสียงดังมากๆ ในที่สาธารณะญี่ปุ่นและเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ควรกระทำ

"เจอกับตัวเอง เคยเห็นคนไทยเสียงดังเสียงดังมากๆ และยิ่งไปกลุ่มใหญ่มากเท่าไหร่ยิ่งเสียงดังมากเท่านั้น  อาจจะไม่ดังในความรู้สึกของคนไทย แต่เป็นการรบกวนคนอื่นที่นี่ เห็นได้ชัดเลยเรื่องนี้ การพูดคุยในที่ขนส่งสาธารณะต้องใช้เสียงเบา  หรือถ้าฟังเพลงด้วยหูฟังก็อย่าเปิดเสียงฟังดังด้วย มารยาทในรถสาธารณะทุกประเภทก็เหมือนกันหมด"

"คนไม่คุ้นอาจตกใจเพราะรถไฟญี่ปุ่นเงียบมาก แม้มีคนมากก็ตาม โดยปกติในญี่ปุ่นคือห้ามเปิดเสียงมือถือ ในที่สาธารณะต้องเปิดสั่นเท่านั้น แต่คนไทยไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้อีกอย่างคือ คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือกันทุกที่ด้วย จึงใช้โทรศัพท์ดังในขนส่งสาธารณะที่นี่"



แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ


เรื่องห้ามยุ่งในญี่ปุ่น!

ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงเป็นเรื่องของคนที่มาจากต่างถิ่นที่ต้องทำความเข้าใจและปรับตัว  อรรถขยายภาพให้ชัดเจนว่า "คนไทยต้องระวังมากคือเรื่องอย่าใช้มาตรฐานวัฒนธรรมไทยเข้าไปตัดสินวัฒนธรรมญี่ปุ่น"

"คนญี่ปุ่นมีเส้นบางอย่าง ที่เขาไม่ชอบให้คนละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวของเขาซึ่งคนไทยชอบมาก อย่างการเอ็นดูเด็กหรือลูกคนอื่นในที่สาธารณะเราจับแก้มเด็ก อย่าทำเด็ดขาดที่ญี่ปุ่นสมมติเล่นไกลๆ โบกไม้โบกมือกับเด็กได้ ไม่เป็นไรแต่อย่าไปแตะต้องตัวลูกเขาเด็ดขาดถ้าทำเขาจะทำท่าตกใจมาก อาจจะอุ้มลูกหนีไปเลยแต่คงไม่พูดอะไรไม่ดีกับเรา"

"ความสัมพันธ์และพื้นที่ระหว่างกันในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน  ขณะที่คนไทยถือเรื่องหัว  ไม่ให้คนมาแตะต้องตบหัวไม่ได้  เราก็ต้องคำนึงด้วยว่าอีกสังคมมีข้อกำหนดต่างกันไป  และคนไทยชอบเอาตัวเองเป็นใหญ่  เป็นศูนย์กลาง  คิดว่าแค่นี้เองไม่เห็นเป็นไร  ลองคิดกลับกันดูถ้าในสิ่งที่เรายอมไม่ได้ง่ายๆ  แล้วสังคมอื่นเขาจะยอมเหรอ"

ถ่ายรูปตลอดเวลาในญี่ปุ่นไหวมั้ย?

เรื่องยอดฮิตของคนไทยที่ไปท่องเที่ยว (หรือไม่เว้นแม้แต่ชีวิตประจำวัน)  คือ ถ่ายรูป ถ่ายรูป และถ่ายรูป ทั้งรูปตัวเองรูปอาหาร และรูปกับเพื่อนๆ ด้วยความสงสัยจึงถามกูรูญี่ปุ่นว่านี่เป็นเรื่องปกติหรือไม่ในสังคมญี่ปุ่น

อรรถตอบให้ฟังชัดเจนว่า  "คนญี่ปุ่นไม่เรื่องถ่ายรูปอาหารก่อนกินนะ  แต่ก็โอเค เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวที่ทำได้  แต่ถ้าเรียกให้คนอื่นมาถ่ายรูปให้มากๆ ก็วุ่นวาย การถ่ายรูปเซลฟี่ตลอดเวลาและเรื่องการถ่ายรูปในที่สาธารณะ  เช่น รถไฟเนี่ย เราต้องคำนึงถึงคนอื่น  คนญี่ปุ่นถือมากเรื่องสิทธิส่วนตัว  การที่เราถ่ายรูปคนอื่นในที่สาธารณะโดยพลการ  คือแค่ถ่ายรูปกลุ่มตัวเองแต่ไปติดคนอื่นเนี่ย  ก็อาจสร้างความรำคาญ หรือไม่พอใจให้คนอื่นเขาได้  แต่โอเคนะถ้าแอบๆ ถ่ายไม่กระโตกกระตาก  เพราะคนญี่ปุ่นเนี่ยถ้าเขาจะเซลฟี่ เขาก็จะถ่ายจะทำเงียบๆ  ของเขาไป  แต่คนไทยเนี่ยไม่เข้าใจเรื่องนี้  เลยต้องเสียงดังต้องประกาศให้คนอื่นรู้ว่าฉันกำลังเซลฟี่  ด้วยความที่เป็นคนที่ไม่คำนึงเรื่องสิทธิส่วนตัว"

"สมมติว่า  จะถ่ายรูปหมู่ก็รวมตัวกันแล้วให้ใครมาถ่ายให้ครั้งเดียว  สองครั้ง ไม่ใช่ถ่ายทุกสามครั้งที่เปลี่ยนอิริยาบถ  หรือถ่ายทุกครั้งที่มีอาหารมาเสิร์ฟก็เยอะไปนิดนึง"

อรรถทิ้งแง่คิดง่ายๆ  ในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมญี่ปุ่นแบบไม่ประดักประเดิดว่า "คนญี่ปุ่นคำนึงผู้อื่นก่อนเสมอ  เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรในญี่ปุ่นให้นึกถึงคนอื่นก่อนว่ารบกวนเขามั้ย  แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ  น้อยๆ  ก็ตาม"


นักท่องเที่ยวไทยในญี่ปุ่น เป็นภาพแทนนักท่องเที่ยวจีนในไทย

ด้วยความสงสัยว่ากระแสในทางลบของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยในญี่ปุ่น  ที่เหมือนจะคล้ายพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนในไทย  และคนญี่ปุ่นมองอย่างนั้นหรือไม่  อรรถได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า  "ถ้าเรามองเรื่องสิทธิในที่สาธารณะเป็นหลัก  และเรารู้สึกกับคนจีนที่มาบ้านเราแล้ววุ่นวายและรุกล้ำสิทธิเราในที่สาธารณะอย่างไร  คนญี่ปุ่นรู้สึกเช่นนั้นกับเรา  แต่ห้ามเด็ดขาดที่จะคิดอย่างมักง่ายว่า  ไม่เป็นไรเรามาแป๊บเดียว  ถ้าอย่างนั้นคนจีนก็คิดแบบนี้สิ  คือไม่เป็นไรหรอกเรามาไทยแป๊บเดียวทำอะไรก็ได้"

"ข้อเขียนของสื่อในญี่ปุ่นยังมองนักท่องเที่ยวไทยในแง่บวก  ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยสูงขึ้นมากหลังเปิดวีซ่า  รายการโทรทัศน์ติดตามดูนักท่องเที่ยวมีลักษณะนิสัยอย่างไร  อย่างเช่น  พบมาว่านักท่องเที่ยวไทยบ้าคิทแคท  ซื้อเป็นลังๆ  หรือถึงกับพรีออเดอร์  หรืออาจเอาไปขายต่อหรือเปล่า  เรื่องทำนองนี้"

"มีรายการไปสอบถามนักท่องเที่ยวไทยว่าไปซื้อของที่ไหน คนไทยชอบไปซื้อของร้าน 100 เยน หรือ  ร้านไดโซะ ซึ่งเมืองไทยก็มี เขาก็ไปหาคำตอบว่า ด้วยความที่เงินบาทสูงค่าเงินเยนถูกกว่า ของจึงถูกกว่าไดโซะในไทยและมีของหลากหลายกว่า"

คนไทยช็อปล้างบาง

อรรถเล่าถึงเกร็ดของนักท่องเที่ยวไทยในญี่ปุ่นที่เขาพบเจอในโตเกียว และค่อนข้างงุนงงอย่างมากคือ อาการช็อปปิ้งฟีเวอร์ของชาวไทย

"เรื่องที่เจอกับตัวเองและต้องตกใจมากก็คือ กระเป๋าBao Bao ของอิเซ่มิยาเกะ ในห้างทุกห้างที่โตเกียวไม่มีอยู่บนชั้นเลยสักใบไม่มีเลยจริงๆ  ผมไปที่ห้างแห่งหนึ่งก็เห็นครอบครัวคนไทยไปรุมที่เคาน์เตอร์ของ Bao Bao ว่า ทำไมของหมด  ทำยังไงจะได้ของ  บางร้านถึงกับมีป้ายตั้งวางเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ′สินค้าหมด′ แถมมีป้ายภาษาไทยบอกไว้ด้วย  บางครั้งคนญี่ปุ่นก็ตกใจในความบ้าคลั่งของคนไทยในบางเรื่องนะ"

"หรืออย่างช็อกโกแลตรอยซ์ซึ่งเป็นช็อกโกแลตทีมีขายเฉพาะฮอกไกโดและมีขายตามสนามบินใหญ่ๆ และถ้าสนามบินใดมีเที่ยวบินตรงไทย-ญี่ปุ่น ที่นั่นจะไม่มีช็อกโกแลตรอยซ์  มันจะหมดเกลี้ยงจริงๆ"


ไม่ฝากได้มั้ย? วัฒนธรรมไทย

ในบรรดานักเดินทางและท่องเที่ยวกับสังคมไทยดูเหมือน "ของฝาก" จะเป็นเรื่องใหญ่ในฐานะของความมีน้ำใจ แต่น่าจะเป็นคนละเรื่องกับการ "ฝากซื้อของ" ซึ่งคนไทยนิยมกันอย่างมาก

อรรถฝากไว้ว่า "ในฐานะคนเดินทางเยอะสิ่งที่แย่มากคือ การแพ็กของเวลาเดินทางกลับผมเห็นของคนอื่นที่ฝากซื้อ 70%  ส่วนของที่ตัวเองอยากได้หรือของที่อยู่ในความทรงจำกับการเดินทางมีอยู่ 30% ความสนุกสนานของการท่องเที่ยวมันก็หายไป"

"ฝากเรื่องความเกรงใจของการฝากซื้อของของคนไทย ได้เดินทางบ่อยเห็นว่าคนไทยชอบฝากซื้อแบบไม่นึกถึงคนเดินทางเลยว่ามีภาระอย่างอื่น  บางคนสั่งซื้อแบบเจาะจงแบบรุ่นมากๆ ถ้าเป็นเพื่อนที่สนิทก็ไม่เป็นไร แต่เพื่อนบางคนไม่สนิทเลยก็มาฝาก และคนไทยฝากซื้อของแบบไม่ฝากเงินด้วยนะ เคยเจอแบบซื้อมาไม่ชอบแล้วไม่เอาอีกต่างหาก หรือถ้าหาไม่ได้ก็โกรธ อีกอย่างคือด้วยระบบอาวุโสของไทย เคยเห็นกรณีเจ้านายฝากลูกน้องซื้อของ แบบจะไม่ให้มีเวลาได้ชื่นชมกับการเดินทางบ้างเลย ใครจะปฏิเสธได้ แถมยังไม่ฝากเงินอีกด้วย"


ฟังๆ ดู ทั้งหมดจากแง่คิดแบบ "ญี่ปุ่นผสมไทย" ในมุม "อรรถ บุนนาค" แล้ว ทำให้การเดินทางไปญี่ปุ่นหรือที่ไหนๆ ก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่เราไปเพื่อเก็บเกี่ยวแค่ภาพถ่ายหรือพักผ่อนแบบไม่ฟังเสียงใครอีกต่อไป  ทีนี้ก็คงพอจะเลือกได้แล้วว่า จะเปิด-ปรับ-หรือปิดตัวเอง เวลาออกไปเบิ่งโลกกว้าง


แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ


แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ


แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ


แจงให้หมดจด! มารยาท เที่ยวญี่ปุ่น มีอะไที่รคนไทยต้องเข้าใจ

ขอบคุณ prachachat.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์