ใครจะกินน้ำแข็ง อ่านก่อน.. เอาความจริงมาบอก !!

"น้ำแข็ง" พระเอกของฤดูร้อนที่ช่วยให้ทุกคนดับกระหาย หารู้ไม่ว่าเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกปนเปื้อน

 

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว รถหกล้อบรรทุกน้ำแข็งเลี้ยวมาจอดหน้าร้านขายของชำ ชายฉกรรจ์ร่างบึกบึนแบกน้ำแข็งก้อนยักษ์ขึ้นบ่า มือที่สวมถุงมือผ้ากระชับแน่น ก่อนเดินอย่างคล่องแคล่วแล้วโยนลงในถังแช่ อีกคนลากกระสอบถุงปุ๋ยเทน้ำแข็งป่นลงถังเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

น้ำแข็งเหล่านี้ถูกนำไปใช้งานสารพัด ทั้งแช่หมู แช่ผัก แช่น้ำขวด ใส่แก้วให้ลูกค้า ทำน้ำแข็งใส ยันไอศครีม

ใครจะเชื่อ กว่าจะถึงปากให้เคี้ยวกันอย่างเพลิดเพลิน อาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคปนเปื้อนชนิดที่เราคาดไม่ถึง

เบื้องหลังอันน่าตกใจ

จากข้อมูลจากการประปานครหลวง (กปน.) ระบุว่า น้ำแข็งที่เราบริโภคกันอยู่นั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ น้ำแข็งซอง หรือน้ำแข็งก้อนใหญ่นำมาทุบให้เล็กลงใส่เครื่องบดให้เป็นน้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งป่น เพื่อไปจำหน่ายต่อ เหมาะกับการแช่ของสด แช่น้ำขวด นำไปใส่แก้วให้ลูกค้า ทำน้ำแข็งใสใส่ขนมหวาน ส่วนอีกชนิดคือ น้ำแข็งหลอดสำเร็จรูป เป็นก้อนเล็กๆบรรจุใส่ถุงพลาสติกวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต

สิ่งที่น่าวิตกกังวลอยู่ตรงขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงการขนส่งที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเรื่องความสะอาดเท่าที่ควร

 


ใครจะกินน้ำแข็ง อ่านก่อน.. เอาความจริงมาบอก  !!

"ตั้งแต่โรงงานผลิตน้ำแข็งที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง เครื่องตัดก้อนน้ำแข็งก็ใช้ใบมีดเป็นสนิม พวกโรงน้ำแข็งขนาดเล็กหลายแห่งมักมีคนงานยก ตัก โกย บรรจุลงถุง โดยไม่สวมเครื่องแบบมิดชิด บางคนไม่ใส่เสื้อ ใส่กางเกงขาสั้น สวมแค่รองเท้าบูทยางเท่านั้น ถุงก็เป็นกระสอบขาวๆด่างๆไม่ต่างกับถุงปุ๋ย ถุงใหม่หรือถุงเก่าเคยใส่ข้าวสาร หรือสารเคมีมารึเปล่าก็ไม่รู้

ขั้นตอนจัดส่งยิ่งน่ากลัว ส่วนมากใส่รถบรรทุกคลุมด้วยผ้าใบ มีลูกจ้างนั่งทับมา บางคนขึ้นเหยียบไม่สนใจ พอถึงร้านก็ใส่ถุงมือเก่าๆแบกน้ำแข็งไปส่ง ลากกระสอบไปตามพื้น ยังไม่นับถังบรรจุน้ำแข็งของร้านค้าว่าสะอาดหรือเปล่า" สุพจน์ อดีตเจ้าของโรงน้ำแข็งย่านนนทบุรี เปิดเผยความจริงอันน่าตกใจให้ฟัง

โดยเฉพาะน้ำแข็งป่น น้ำแข็งเกล็ด ถือว่าเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆมากที่สุด

"ไอ้น้ำแข็งเปล่านี่ล่ะ เคยลองดูไหมว่าเวลายกดื่ม ตรงก้นแก้วมีตะกอนดำๆสกปรกๆอยู่ไหม กินไปกินมาอาจท้องเสียท้องร่วงก็ได้ พวกฝรั่งนี่เข็ดขยาดกันเยอะ เขาว่าน้ำแข็งบ้านเราโคตรสกปรกเลย"

แหล่งรวมเชื้อโรค

เร็วๆนี้ พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกล่าวในการประชุมการจัดการอาหารปลอดภัยในสถานที่จำหน่ายอาหารและค้าปลีกน้ำแข็งว่า จากการสุ่มตรวจการปนเปื้อนในอาหารของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2555–2557 พบว่า มีน้ำแข็งบริโภคปนเปื้อนจุลินทรีย์มากกว่า 64.5 %

สอดคล้องกับการสำรวจของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ระบุว่า ทั้งน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอด มักมีการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น โคลีฟอร์ม อีโคไล ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูล ส่วนใหญ่ปนเปื้อนจากผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง และจากการขนส่ง

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า ขณะนี้ เมืองไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของประชาชน แต่หากขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาที่ไม่ดี อาจเกิดการปนเปื้อนและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างรวดเร็ว เช่น เชื้อซัลโมเนลล่า วิบริโอ อี.โคไล และ สแตฟฟิโลคอคคัสออเรียส ล้วนก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง

 


ใครจะกินน้ำแข็ง อ่านก่อน.. เอาความจริงมาบอก  !!

ดูให้ดีก่อนบริโภค

ยิ่งช่วงหน้าร้อนแบบนี้ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต่อไปนี้คือคำแนะนำของภก.ประพนธ์ ในการสังเกตก่อนเลือกซื้อการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศครีมมาบริโภค

น้ำดื่ม ควรเลือกภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึมหรือมีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสผิดปกติ

น้ำแข็ง หากเป็นน้ำแข็งหลอดบรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน ต้องมีข้อความว่า ‘น้ำแข็งใช้รับประทานได้’ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน

น้ำแข็งหลอด ที่ให้บริการภายในร้านค้าและร้านอาหารทั่วไป ควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น ก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องมีความใสสะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปะปน

น้ำแข็งซองหรือน้ำแข็งก้อน ควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน นำมาล้างน้ำก่อนทุบหรือบดแล้วนำใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด

ไอศกรีม ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท ไม่ฉีกขาด สังเกตได้จากการที่ไม่มีไอศกรีมรั่วซึมออกมา

ไอศกรีมตัก ตัวไอศกรีมต้องไม่มีสี กลิ่น รส ที่ผิดปกติ และไม่เหลวหรือมีลักษณะเหมือนเคยละลายมาแล้ว รวมทั้งผู้บริโภคต้องดูสุขลักษณะของผู้ขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เล็บมือ การแต่งกาย ภาชนะที่ใช้ใส่ไอศกรีมก็ต้องสะอาดด้วย

สุดท้ายต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน เช่น ชื่ออาหาร และชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีผลิตหรือวันหมดอายุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตาม กฎหมาย เพราะจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

ทั้งหมดนี้อาจเป็นข้อมูลที่ชวนให้ตกตะลึง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอันตรายใกล้ตัวที่เราต้องระมัดระวังใส่ใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม


ใครจะกินน้ำแข็ง อ่านก่อน.. เอาความจริงมาบอก  !!

ขอบคุณข่าวจาก ::posttoday



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์