เที่ยว “จังหวัดน่าน” ทั้งที นอกจากชมวัดวาอารามที่มีความสวยงามแล้ว ต้องไม่พลาดชมบ้านเจ้าล้านนาไทยในยุคเก่าที่ถูกอนุรักษ์ไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่ายิ่ง วันนี้เราจะพาไปเยือน “โฮงเจ้าฟองคำ” พร้อมเรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองกันค่ะ
โฮงเจ้าฟองคำ เป็นบ้านของเจ้าล้านนาไทยฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ 100 ปี่ที่ผ่านมาค่ะ คำว่า โฮง เป็นคำพื้นเมืองล้านนา หมายถึง คุ้มหรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย บ้านพักนี้เป็นบ้างของเจ้าศรีตุมมา หลานของเจ้ามหาวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 12 ของราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ และได้กลายเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครน่านคือ เจ้าฟองคำ นั่นเองค่ะ
โฮงเจ้าฟองคำเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง มีลานเชื่อมต่อทุกหลังเพื่อให้เดินหากันได้สะดวก ตัวโฮงสร้างขึ้นด้วยไม้สักผ่า การประกอบตัวเรือนใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้ โดยใช้สลักไม้ ไม่ได้ใช้ตะปูแบบสมัยนี้ค่ะ โฮงเจ้าฟองคำได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง และดัดแปลงไปจากลักษณะเดิมเพื่อเปลี่ยนให้เป็นที่พักอาศัยของสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้เราก็ยังสามารถเห็นร่องรอยเก่าๆ ที่มีเหลือในส่วนต่างๆ ของตัวบ้านได้อยู่ค่ะ
การมาเยือนโฮงเจ้าฟองคำ จะทำให้เราได้เห็นถึงลักษณะบ้านล้านนาของนครน่าน ที่จะนิยมสร้างบ้านประกอบด้วยส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัย ครัว ยุ้งข้าว บ่อน้ำ และครกตำข้าว ส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยจะประกอบด้วยบ้าน 2 หลังเคียงกัน มีห้องโถง เรียกว่าหน้าโถง ห้องนอน 2 ห้องนอน และระเบียงด้านหน้า มีชายหน้าบ้าน จากบันไดหน้าบ้านอ้อมตัวเรือนทั้ง 2 ไปถึงบันไดหลังบ้าน ยุ่งข้าวจะอยู่ต่อจากชานนอก ด้านตรงกันข้ามกับที่อยู่อาศัย และครัวส่วนใหญ่จะแยกออกจากตัวเรือนเพื่อลดอันตรายจากไฟและควันไฟค่ะ