โรคมะเร็งเต้านม ระยะสุดท้าย รักษาได้
จากสถิติพบว่าผู้หญิงไทยมีอัตราการเสียชีวิต จากโรคมะเร็งเต้านมถึงวันละ 14 ราย มะเร็ง เต้านมจึงเรียกได้ว่าเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่ผู้หญิง ทุกคนควรระวังและเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองให้ ห่างไกลโรค เมื่อเป็นแล้วก็ต้องรู้จักรักษาให้ ถูกต้องกับสายพันธุ์ของมะเร็งที่เป็น เพื่อยืดอายุให้มีชีวิตอยู่เติมเต็มความสุขในครอบครัวได้ยาวนานยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ‘นรินทร์ วรวุฒิ’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลว่า
“สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าพันธุกรรมมีส่วนสำคัญ ซึ่งพบว่าคนที่มีญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม สูงกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ฮอร์โมนเสริม รับประทานอาหารขยะ สัมผัสย่าฆ่าแมลง การปล่อยตัวให้อ้วน รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย และพฤติกรรมการใส่ เสื้อชั้นในที่ไม่เหมาะสม เช่น ใส่เสื้อชั้นในนานเกินวันละ 20 ชั่วโมง ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อตัวของมะเร็งเต้านม ดังนั้นผู้หญิงทุกคน จึงควรรับการตรวจมะเร็งทุกปี และหากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ควรตรวจให้แน่ชัดว่า เป็นสายพันธุ์ใด เพื่อรับการรักษาให้ตรงตาม เป้าหมาย เพราะหากรู้ก่อนมีโอกาสรักษาให้ หายได้
สำหรับมะเร็งร้ายที่มีการแพร่กระจาย อย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ในระยะเวลาอันสั้น หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องตามกลไกของโรค คือมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู ซึ่งการรักษามะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทูในระยะแพร่กระจายนั้นมักใช้ยาฉีดกลุ่มยาต้านเฮอร์ทูควบคู่กับยาเคมีบำบัด แต่พบว่าผู้ป่วยกว่าครึ่ง ที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานนี้ยังคงมีการพัฒนาของโรครุนแรงมากขึ้นในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดื้อยา แต่ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ เป็นยาฉีดเพื่อรักษา โรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู ที่นำมาใช้ร่วมกับ ยาต้านเฮอร์ทูตัวเดิม และยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการดื้อยา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งและขัดขวางการรวมตัวกันของโปรตีนเฮอร์ทูกับโปรตีนเฮอร์ชนิดอื่นๆ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้อยาตัวเดิม และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง ร้อยละ 34 เรียกได้ว่าเพิ่มประสิทธิภาพของยาต้านเฮอร์ทูรุ่นก่อน และช่วยลดการลุกลามของโรค อีกทั้งช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่เพื่อครอบครัวและคนที่รักได้ยาวนานยิ่งขึ้น”
โดยทั่วไปมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 3 สายพันธุ์ใหญ่ คือ สายพันธุ์ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเป็นประเภทที่พบมากที่สุด สายพันธุ์เฮอร์ทู พบได้ประมาณ 20% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และชนิดไตรโลปะที่ยัง ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมและได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว ยังคงมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมได้อีก เพราะความผิดปกติของยีนส์บางอย่างในร่างกาย หรือจากสาเหตุบางประการ เช่น การหลงเหลือของเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ ในร่างกาย รวมถึงการดื้อยาที่แพทย์สั่ง การได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ล่าช้า และภูมิคุ้มกัน ในร่างกายต่ำ โดยปกติมีระยะเวลาเฝ้าระวังการ กลับมาเป็นซ้ำหลังจากรักษาประมาณ 12 ปี ซึ่งการกลับมาเป็นซ้ำมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือการกำเริบเฉพาะที่ การกำเริบในบริเวณข้างเคียง และการกำเริบแบบมีการแพร่กระจาย ซึ่งการรักษาในกรณีที่มีการกำเริบและแพร่ะกระจายไปยังอวัยวะอื่นนั้นมักหวังผลเพื่อยืดชีวิตของผู้ป่วย รักษาคุณภาพชีวิต และบำบัดอาการของโรคเป็นหลัก
ปัจจุบันยาฉีดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทู ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ รวมกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทาง การแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีชีวิตยืนยาวขึ้นแล้ว การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง ตลอดจน กำลังใจจากคนใกล้ชิดก็ยังคงมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมควรมาพบแพทย์ตามนัด และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และลดอาหารจำพวกเนื้อแดง รวมถึงเนื้อที่ผ่านการแปรรูป หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสี ออกกำลังกาย งดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ และทำจิตใจให้สดชื่น เข้มแข็ง เพื่อให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคและมีชีวิตอยู่กับคนที่รักให้นานที่สุด
เนื้อหาโดย นิตยสารเปรียว