คือ แอปเปิล อิงค์., ไอบีเอ็ม กับการไปรษณีย์แห่งญี่ปุ่น (เจพีจี-แจแปน โพสต์ กรุ๊ป ซึ่งไม่ได้ประกอบกิจการไปรษณีย์อย่างเดียว แต่มีอีกหลายธุรกิจ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ธุรกิจประกันชีวิต ที่ได้ชื่อว่าเป็นกิจการประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดของที่นั่น) นั่นคือ โครงการ "แจก" แท็บเล็ตไอแพดให้กับผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นด้วยจำนวน 5 ล้านเครื่อง ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้
แนวคิดเบื้องหลังโครงการนี้น่าสนใจไม่น้อย แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับแนวคิดดังกล่าว ต้องทำความเข้าใจกับสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ที่แตกต่างจากบ้านเราอยู่ไม่น้อย
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุสูงที่สุดในโลก จำนวนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี) ในญี่ปุ่นตอนนี้มีมากถึง 33 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นราว 40 เปอร์เซ็นต์ในอีกเพียง 40 ปีข้างหน้า
สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ไม่ว่าจะ "เต็มใจ" หรือ "ไม่เต็มใจ" ที่จะอยู่เช่นนั้นก็ตาม
นั่นทำให้บริการอย่าง "วอทช์ โอเวอร์ เซอร์วิส" ของเจพีจี กลายเป็นบริการยอดนิยมในประเทศญี่ปุ่น
"วอทช์ โอเวอร์ เซอร์วิส" คือบริการส่งพนักงานไปยังที่พักของลูกค้าสูงอายุ เพื่อตรวจสอบความเป็นอยู่และให้ความช่วยเหลือในเรื่องความเป็นอยู่เล็กๆ น้อยๆ อาทิ กำหนดการรับประทานยา กำหนดนัดพบแพทย์ หรือช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงบริการต่างๆ ที่ทางการจัดสรรให้กับพวกเขา และกับการจ่ายค่าบริการให้กับเจพีจีเป็นรายเดือน เป็นต้น
ตรงนี้เองที่ "ไอแพด" เข้ามามีบทบาท ภายใต้แนวคิดใหม่นี้
พนักงานของเจพีจีแทนที่จะไปพบลูกค้าเฉยๆ จะนำเอาไอแพดไปด้วยทำหน้าที่เป็นครูสอนการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดให้กับผู้สูงวัยทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานชุดแอพพลิเคชั่นที่ทางไอบีเอ็มออกแบบมาเป็นพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโยงผู้สูงอายุเหล่านั้นเข้ากับเครือข่ายทางสังคมของชุมชน, ครอบครัว และการบริหารจัดการเรื่องทางด้านสุขภาพของลูกค้าผู้สูงวัยเหล่านั้น นอกเหนือจาก "ความบันเทิง" ที่ผู้ใช้ไอแพดจะได้รับเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
แอพพลิเคชั่นของไอบีเอ็มจะเตือนให้ผู้ใช้ที่มีอาการป่วยรับประทานยาให้ตรงเวลาไม่ลืมกินยา "ความดัน" ของตัวเองซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการถึงขั้นเสียชีวิต ในเวลาเดียวกัน ผู้ใช้ก็สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น "เฟซไทม์" เพื่อติดต่อพูดคุยกับบุคคลในครอบครัวไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนได้ เช่นเดียวกับที่สามารถใช้มันเพื่อจองวันเวลาสำหรับใช้บริการช่างประปา เข้ามาซ่อมแซมอ่างล้างหน้าที่รั่วซึม เป็นต้น
ผู้บริหารของเจพีจีและแอปเปิลไม่ได้พูดถึงการใช้ไอแพดในแง่ของอุปกรณ์เพื่อรับบริการ "เทเลเมดิซิน" หรือการแพทย์ทางไกล
แต่ด้วยขีดความสามารถของเทคโนโลยีและเครือข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันในญี่ปุ่น การให้บริการเพื่อที่ผู้สูงอายุสามารถพบ ปรึกษาหารือกับแพทย์เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิก ไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป
ไอบีเอ็ม นอกจากจะทำหน้าที่ออกแบบแอพพลิเคชั่นแล้ว ยังเป็นตัวหลักในการพัฒนาระบบคลาวด์
สำหรับเก็บข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้าทุกราย เชื่อมต่อกับไอแพดในมือผู้ใช้บริการทุกเครื่อง เจพีจี ที่ให้บริการ "วอทช์ โอเวอร์" มานาน ไม่เพียงเข้าใจถึงความต้องการและทรรศนะของบรรดาลูกค้าผู้สูงวัยเหล่านี้เท่านั้น ยัง "ได้รับความไว้วางใจ" จากสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นสูงมากที่สุดอีกด้วย
ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญมากสำหรับการนำมาใช้ "สังเคราะห์" ด้วยระบบ เดต้า อะนาไลติค เพื่อขจัดข้อบกพร่อง หรือเพิ่มเติมบริการให้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น หรือเพื่อให้การแจกไอแพดครั้งนี้มีประโยชน์ตรงกับวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตอยู่โดยลำพังอย่าง "ปลอดภัย" และ "มั่นคง" มากยิ่งขึ้น
หากประสบความสำเร็จ โครงการนี้ไม่เพียงสามารถขยายออกไปครอบคลุมสังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่นเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นตัวอย่างในการประยุกต์ใช้ที่ดีสำหรับสังคมของอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่ม "ชราภาพ" ลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
ปัญหาก็คือโครงการริเริ่มนี้ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไอแพดที่แจกออกไป มีประโยชน์ในการช่วยชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ชราภาพเหล่านั้นได้
ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแจก"ของเล่น" ใหม่ให้สนุกกันชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น