ขอขอบคุณ Trader Hunter พบธรรม
แค่ดูก็รู้แจ้ง - ตอนที่ 7 .1ตอนที่ ๗
ฝึกดูกาย-ดูจิตต่อไป
พูดถึงดูกาย ดูจิต กันมาตั้งนาน
เข้าใจหรือยังว่า ดูกาย ดูจิต คืออะไร เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า
ดูกาย ก็คือการรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางกายด้วยความรู้สึกตัว
ดูจิต ก็คือการรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางใจด้วยความรู้สึกตัว
เมื่อใดที่กำลังรับรู้สิ่งปรากฏด้วยความรู้สึกตัว
เมื่อนั้นการดูกาย ดูจิต ก็จะเป็นเพียง แค่ดู หรือแค่รู้เท่านั้น
เหมือนเราทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รู้ ที่กำลังรู้อะไรบางอย่างในฐานะสิ่งที่ถูกรู้
ไม่มีการจงใจกระทำการใด ๆ ต่อสิ่งที่กำลังถูกรู้อยู่
ไม่มีการบังคับ ไม่มีการกดข่มหรือทำให้สิ่งที่กำลังถูกรู้นั้นดับไปด้วยความไม่พอใจ
ไม่มีการรักษาหรือทำให้สิ่งที่กำลังถูกรู้ปรากฏอยู่ด้วยความพอใจ
ในการฝึกดูกายหรือฝึกดูจิตจึงไม่มีอะไรต้องทำ มีเพียงแค่ดูเท่านั้น
เมื่อใดที่แค่ดูได้ เมื่อนั้นก็คือการฝึกดูกายหรือดูจิต
แค่ดูกายไปเรื่อย ๆ บ้าง แค่ดูจิตไปเรื่อย ๆ บ้าง ก็จะรู้แจ้งได้เอง
สงสัยละซิว่า รู้แจ้งอะไร เอาไว้อ่านในตอนสุดท้ายก็แล้วกัน
ตอนนี้จะขอพูดถึงการฝึกกันซะก่อน
การฝึกดูกายหรือดูจิตนั้น จะไม่มีลำดับขั้นตอนตายตัวว่า
ต้องฝึกดูกายก่อน หรือฝึกดูจิตก่อน
เพราะแต่ละคนจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน
บางคนจะถนัดดูกาย บางคนจะถนัดดูจิต
(ถนัดในที่นี้หมายถึงสามารถแค่ดู หรือรู้สึกตัวได้ง่ายเมื่อมีการรับสิ่งต่าง ๆ)
แล้วก็ยากและเหนือวิสัยทั่วไปที่ใครจะบอกได้ว่า
เราถนัดดูกาย หรือเราถนัดดูจิต แต่ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกต
ก็อาจจะพอทราบจากตอนฝึกรู้สึกตัวในชีวิตประจำวันแล้วว่า
เราถนัดดูกายหรือดูจิต เพราะในขณะฝึกรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน
ถ้าเราถนัดดูจิต เราจะรู้สึกตัวได้เสมอ ๆ เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ทางใจ
เช่น เดิน ๆ แล้วเผลอไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่พอมีการรับรู้ทางใจ
เช่น รู้สึกว่ามีความโกรธเกิดขึ้น ก็สามารถเกิดรู้สึกตัวขึ้นได้
ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า เราน่าจะมีความถนัดดูจิตมากกว่า
ส่วนใครที่เกิดรู้สึกตัวขึ้นได้เมื่อมีการรับรู้อาการไหวของร่างกาย
หรือมีการสัมผัสทางกาย เช่น เดิน ๆ แล้วเผลอไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
แต่พอมีการรับรู้ถึงขาที่กำลังก้าว หรือเท้าที่กำลังกระทบพื้น ก็เกิดรู้สึกตัวขึ้น
ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าเราน่าจะมีความถนัดดูกายมากกว่า
แต่ไม่ว่าใครจะถนัดดูกายหรือถนัดดูจิตก็ตาม
เมื่อฝึก ๆ ไป การดูจะพลิกไปพลิกมาโดยตัวมันเอง
เดี๋ยวก็พลิกไปดูกาย อีกเดี๋ยวก็พลิกไปดูจิต แล้วแต่ว่าในขณะนั้น
สิ่งที่ปรากฏทางกายหรือทางใจจะถูกรู้ได้เด่นชัดกว่ากัน
เช่น ขณะที่เรากำลังเดินดูกายไปเรื่อย ๆ จู่ ๆ ก็เดินไปเจอคู่ปรับเก่าเข้า
พอตามองเห็นคู่ปรับเก่าเท่านั้นแหละ ความโกรธก็พุ่งปรู้ดขึ้นทันที
การรับรู้ก็จะไปเด่นชัดที่ความโกรธ และถ้าสามารถเกิดรู้สึกตัวขึ้นได้
ก็จะพลิกไปดูจิตได้โดยอัตโนมัติ ใครเป็นแบบนี้
ก็ไม่ต้องพยายามดึงความรู้สึกกลับไปเพื่อดูกายเชียวนะ
ปล่อยให้การรับรู้ไปอยู่กับสิ่งที่ปรากฏทางใจ แล้วเราก็ดูจิตต่อไปเลย
ในทางกลับกัน ถ้าดูจิตอยู่แล้วเกิดไปรู้สึกที่กายชัด
ก็ไม่ต้องดึงความรู้สึกกลับมาที่จิตที่ใจ ให้ดูกายต่อไปเลย
ในการฝึกดูกายหรือดูจิต ก็ไม่ใช่ว่าเราจะแค่ดูได้ง่าย ๆ หรอกนะ
เพราะโดยธรรมชาติของคนเราที่ยังไม่รู้แจ้งถึงที่สุด
ย่อมต้องเกิดการกระทำบางอย่างขึ้นเสมอในระหว่างการฝึก
เช่น บางคนที่มีนิสัยขี้โมโหหรือโกรธง่าย และมีความเห็นว่า
โกรธไม่ดีนะ ต้องไม่โกรธ ดังนั้นพอมีการรับรู้ว่าโกรธแล้ว ก็จะแค่ดูไม่ได้
จะเผลอไปทำอะไรบางอย่างเพื่อให้หายโกรธ
ทำไปเพราะความไม่รู้ว่า การทำอย่างนั้นไม่ใช่เหตุที่จะทำให้รู้แจ้งได้
หรือทำไปเพราะหลงผิดไปเลยว่า การทำอย่างนั้นจะทำให้รู้แจ้งได้
ดังนั้นจึงต้องเข้าใจให้ได้ว่า ความโกรธเป็นเรื่องปกติของคนเรา
เราห้ามไม่ให้โกรธไม่ได้ เมื่อมีเหตุพร้อม ความโกรธก็จะเกิดขึ้นทันที
และเราเองก็มีความไม่รู้สึกตัวเป็นทุนเดิม
จึงทำให้เราเผลอไปจัดการอะไรบางอย่างต่อความโกรธที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นในการฝึก เราอาจไปเกิดความรู้สึกตัวขึ้น
หลังจากเผลอไปจัดการกับความโกรธก็ได้ ขอให้เข้าใจไว้ว่า
อาการแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่ว่าเราฝึกแล้วมีข้อผิดพลาด
ขอเพียงแค่ ให้แค่ดูต่อไปในทันทีที่รู้สึกตัวขึ้น
(รู้สึกตัวขณะใด ก็แค่ดูต่อไปเท่านั้น)
อย่างนี้ก็นับว่าเราได้ฝึกดูกายดูจิตถูกแล้ว
การฝึกดูกาย ฝึกดูจิต ของแต่ละคนนั้น
จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกันแม้ว่าจะเกิดอารมณ์เหมือน ๆ กัน
เช่น ในขณะที่เกิดความโกรธ
บางคนเมื่อดูจิต อาจจะเห็นว่าตัวเองกำลังโกรธ แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้น
บางคนอาจจะเห็นชัดว่า อยากให้หายโกรธ แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้น
บางคนอาจจะเห็นชัดว่า อยากด่าคนที่ทำให้โกรธ แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้น
ในขณะที่บางคนอาจเห็นแค่ว่า มีความโกรธเกิดขึ้นนิดนึงก็รู้สึกตัวได้
แล้วความโกรธก็จางหายไป
เพราะฉะนั้นในการฝึก เราจะเห็นอะไร เห็นแค่ไหน
ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญจะอยู่ตรงที่
เห็นแล้วเราต้องมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น เมื่อมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น
เราก็จะแค่ดูสิ่งที่กำลังปรากฏในจิตในใจได้
ดังนั้นอย่าพยายามฝึกให้เห็นให้เป็นเหมือนคนอื่นเชียวนะ
ใครเขาฝึกแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา ส่วนเราก็ฝึกของเราไป
ขอเพียงเมื่อรับรู้อะไรได้ชัดแล้วมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นก็ แค่ดู ต่อไปเท่านั้น
โดย อาจารย์ สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา