โรคเมอร์ส มีชื่อทางการว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรค MERS โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคของระบบทางเดินหายใจ เชื้อที่เป็นสาเหตุคือเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2012 ที่ซาอุดีอาระเบีย โคโรนาไวรัสจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจตั้งแต่โรคที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด จนถึงอาการรุนแรง เช่น ซาร์ส
โรคเมอร์สมีอาการอย่างไรบ้าง?
ผู้ป่วยโรคเมอร์สจะมีอาการไข้ ไอ หายใจสั้น ปอดบวม และอาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่นท้องเสีย นอกจากนี้ยังได้รับรายงานการพบอาการรุนแรงที่เป็นสาเหตุทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยบางรายพบมีอวัยวะล้มเหลว โดยเฉพาะไต หรือเกิดการช็อกจากติดเชื้อ ไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง
ติดเชื้อโรคเมอร์สแต่ไม่แสดงอาการป่วยได้หรือไม่?
คำตอบคือได้ เพราะบางรายที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส แต่ไม่ปรากฏอาการป่วย ในกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มคนที่มีการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเมอร์ส จึงได้รับการเฝ้าระวังติดตามอาการ และได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
คนติดเชื้อเมอร์สได้อย่างไร?
เชื้อนี้เป็นเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ และเชื่อกันว่าคนสามารถติดเชื้อผ่านมาจากการสัมผัสทางตรงและทางอ้อม กับอูฐโหนกเดียวที่มีการติดเชื้อในแถบตะวันออกกลาง ในบางกรณีไวรัสนี้สามารถแพร่ติดตอจากคนสู่คน โดยเฉพาะในบุคคลที่มีการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ซึ่งพบได้ในสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ การระบาดที่เกิดขึ้นนี้ส่วนใหญ่ติดต่อจากคนสู่คนในสถานพยาบาล
โรคเมอร์ส เป็นโรคติดต่อใช่หรือไม่?
โรคเมอร์สเป็นโรคติดต่อแต่พบในวงจำกัด โรคนี้ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนอย่างง่ายดาย แต่จะพบการติดต่อจากคนสู่คนได้กรณีสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องดูแลผู้ป่วย แต่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ส่วนมากพบในสถานพยาบาลและเป็นการติดต่อจากคนสู่คน
แหล่งที่มาของเชื้อไวรัสเมอร์ส คือค้างคาว อูฐ สัตว์เลี้ยง?
แหล่งที่มาของโรคยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน พบเชื้อไวรัสเมอร์สที่พบตรงกับในคนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แยกออกมาจากอูฐที่พบในอียิปต์ โอมาน การ์ตาร์ และซาอุดีอาระเบีย และจากการยังศึกษาอื่นๆ พบแอนติบอดีเชื้อไวรัสเมอร์สในอูฐโหนกเดียว แถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง จากการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมในคนและอูฐ ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อไวรัสเมอร์สในอูฐและคน