ธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุ มีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ เป็นสวนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากันเป็นส่วนยอด รอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อย มีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5X5 เมตร นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง ก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้า จะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชือกันว่า ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ฝนจะแล้งในปีนั้น
ธาตุก่องข้าวน้อย มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของธาตุก่องข้าวน้อย กลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสาย เกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบ ทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงแต่ว่า ข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมด จึงได้สติคิดสำนึกผิด ที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น
เพีอเป็นการอุทิศส่วนกุศล ขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต