ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, พรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
ในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารไซน์ซ แอดแวนเซสเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนระบุว่า นับตั้งแต่ยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ไม่มีครั้งไหนอีกเลยที่โลกจะสูญเสียสัตว์หลากหลายชนิดไปด้วยอัตราเร็วเช่นนี้
พอล เอร์ลิช ศาสตราจาย์ด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเปิดเผยว่า
ผลการศึกษาชิ้นนี้ แสดงให้เห็นโดยไม่มีข้อกังขาว่า ถึงตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่รอบที่ 6 และมนุษย์มีแนวโน้มว่าจะเป็นหนึ่งในสปีชีส์ที่สาบสูญ ด้านเจอราร์โด เซบัลลอส แห่งมหาวิทยาลัยยูนัม ในเม็กซิโก ผู้นำการวิจัยนี้ ระบุว่า "หากยังปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป จะต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปีกว่าที่จะฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตกลับมาได้ และสปีชีส์ของเราจะสูญพันธุ์ไปก่อนตั้งแต่แรก"
ผลวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์จากเอกสารการสูญพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังหรือสัตว์ที่มีกระดูกอยู่ภายในอาทิกบสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด และเสือ จากข้อมูลฟอสซิลที่มีการบันทึกไว้ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ซึ่งอัตราเร็วในการสูญพันธุ์ของแต่ละสปีชีส์ในยุคใหม่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ "อัตราการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ต่างๆ ก่อนที่จะมีกิจกรรมของมนุษย์"
ทั้งนี้ อาจเป็นเรื่องยากที่จะประเมินอัตราการสูญพันธุ์ปกติ เนื่องจากมนุษย์ไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกบ้างตลอดช่วงเวลา 4,500 ล้านปีของดาวดวงนี้
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาชิ้นนี้ นักวิจัยใช้อัตราการสูญพันธุ์ตามปกติในอดีตที่มากกว่าอัตราที่ประเมินกันทั่วไปถึง 2 เท่า ซึ่งผลการศึกษาชิ้นนี้พบว่า หากอัตราการสูญพันธุ์ในอดีตเท่ากับมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ใน 10,000 สปีชีส์ สูญพันธุ์ทุก 100 ปี "อัตราการสูญพันธุ์โดยเฉลี่ยของสัตว์มีกระดูกสันหลังในช่วงศตวรรษที่ผ่านมานับว่าสูงกว่าช่วงเวลาที่ยังปราศจากกิจกรรมของมนุษย์ถึง114เท่าซึ่งถือเป็นการประเมินที่ค่อนข้างระมัดระวัง"
ขณะที่ข้อมูลสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ระบุว่า ราว 41 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และ 26 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์