ถ้าเฉพาะคำ "อุยกูร์" เป็นหนึ่งในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกอบกันเข้าเป็นประชากรของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ หรือ ซินเกียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน
นับเป็นพื้นที่เขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีขนาดประมาณ 1/6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ
นับแต่สมัยราชวงศ์ชิง ซินเกียงเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งถึง 4,000 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ทุรกันดารเพราะตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปาร์มีและทะเลทรายทากลามากัน
การที่อยู่ใกล้กับประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศ ทำให้ประชากรพื้นเมืองของซินเกียงไม่ใช่ชาวจีน แต่เป็นคนเชื้อสายเติร์กที่เรียกตัวเองว่าชาว "อุยกูร์" หรือภาษาจีนเรียก เหวยอู๋เอ่อ นับถือศาสนาอิสลาม
ซินเกียงเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณ และการที่เป็นจุดเชื่อมแผ่นดินใหญ่เข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ทำให้เจริญถึงขีดสุดในยุคที่การค้าบนเส้นทางสายไหมรุ่งเรือง ศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้ามาผ่านพ่อค้ามุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ครั้นถึงศตวรรษที่ 10 ชาวอุยกูร์ทั้งหลายก็กลายเป็นมุสลิม นครการค้าอย่างคาชการ์ ที่อยู่ทางตะวันตกสุด เป็นเมืองที่มีความเจริญสูงยิ่ง และเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลาม
จนถึงศตวรรษที่ 14 สุลต่านแห่งนครทั้งหลายก็เรียกดินแดนของพวกเขา ว่า เตอร์กิสถานตะวันออก
ดินแดนนี้ตกเป็นของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในเวลานั้นชาวฮั่นและชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยมหาจักรพรรดิจีนมีนโยบายให้ชาวมุสลิมปกครองกันเองและให้เสรีภาพเต็มที่ในการนับถือศาสนา
แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 18 จีนและรัสเซียแข่งขันกันแผ่อิทธิพลในเอเชียกลาง จีนจึงเพิ่มความเข้มในการปกครองซินเกียง ราชสำนักชิงปราบปรามอย่างเฉียบขาดกับมุสลิมที่ต่อต้าน ทำให้ล้มตายกันเป็นอันมาก ความเกลียดชังก็ยิ่งเพิ่ม นโยบายนี้ยิ่งใช้ก็ยิ่งกระพือปัญหาให้ลุกลาม
ค.ศ.1755 ราชสำนักชิงส่งกองทหารเข้ายึดเมืองคาชการ์ และเมื่ออิทธิพลของอังกฤษแผ่เข้ามาในเอเชียใต้และเอเชียกลางในศตวรรษที่ 19 จีนจึงขีดเส้นเขตแดนล้อมอาณาจักรจีน แต่ขณะเดียวกันก็ตัดขาดชาวมุสลิมในซินเจียงกับมุสลิมในเอเชียกลาง
อำนาจปกครองถูกรวบไปรวมศูนย์ที่กรุงปักกิ่ง ซินเกียงกลายเป็นเพียงดินแดนชายขอบของอาณาจักรจีนอันไพศาล อารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากอารยธรรมของจีนศูนย์กลาง
ซินเกียงหมดความสำคัญในฐานะดินแดนการค้า แล้วเศรษฐกิจก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นเพียงดินแดนที่ยากจน นอกจากนี้จีนได้ส่งขุนนางจีนไปปกครองซินเจียงแทนการให้มุสลิมปกครอง ขุนนางที่ถูกส่งไปมักเป็นขุนนางโฉดที่ถูกลงโทษให้ไปลำบากในแดนไกล
แต่การที่อยู่ไกลเมืองหลวงมากเปิดช่องให้ขุนนางเหล่านี้กดขี่ประชาชน ขูดรีด ทุจริต และไม่เคารพประเพณีมุสลิม สร้างความเดือดร้อนให้ชาวมุสลิมอย่างมาก เป็นมูลเหตุที่ทำให้มุสลิมเกลียดชังรัฐบาลจีนและก่อเหตุสู้รบต่อต้านทางการนับครั้งไม่ถ้วน
ทศวรรษที่ 1940 ชนมุสลิมรวมตัวกันภายใต้การนำของชาวคาซัคนาม "อุสมาน" พร้อมพรรคพวกชาวคาซัค อุยกูร์ และมองโกล ก่อการจลาจลขึ้น รัฐบาลจีนของเจียงไคเช็กตอบโต้ด้วยกำลังทหาร เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงจนที่สุดต้องทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างกันใน ค.ศ.1946
เดือนกันยายน 1949 ซินเจียงปลดแอกอย่างสันติ ครั้นวันที่ 1 ตุลาคม เมื่อ สาธารณรัฐประชาชนจีน สถาปนา เขตซินเจียงจึงกลายเป็นเขตบริหารระดับมณฑลที่มีอำนาจปกครองตนเองได้เขตหนึ่งของจีน โดยมีเมืองเอกของมณฑลชื่อ อุรุมชี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชนฮั่นกับชนอุยกูร์มีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและศาสนา หากยังรวมถึงข้อวิจารณ์ถึงการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยเฉพาะในปี 2009 หรือ พ.ศ.2552 เกิดเหตุจลาจลระหว่างชนสองฝ่าย มีผู้เสียชีวิตกว่า 184 ราย บาดเจ็บนับพัน ส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์ จากนั้นมา ทางการจีนยกระดับการคุมเข้มยิ่งขึ้น กระทั่งถูกตอบโต้ด้วยเหตุวางระเบิดในชุมชนเมืองอื่นๆ ของจีน รวมถึงในกรุงปักกิ่ง เป็นระยะ ซึ่งจีนใช้มาตรการแข็งกร้าวยิ่งขึ้น จนมีชาวอุยกูร์อพยพหนีภัยออกจากดินแดน โดยในช่วงเดือนมีนาคมปี 2014 ที่อพยพมาที่อ.สะเดา จ.สงขลา ของไทยกว่า 250 คนนั้น เป็นชาวอุยกูร์เช่นกัน