เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...ชนัสถ์ กตัญญู
คล้อยหลังจาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะ เดินทางมาให้กำลังใจ "ครูน้อย-นวลน้อย ทิมกุล" ผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านครูน้อย พร้อมประกาศจะช่วยปลดหนี้และสานต่อเจตนารมณ์ในการอุปการะเด็กยากไร้
เสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นก็ดังระงมไปทั่ว
เป็นเสียงร้องไห้ที่เปล่งออกมาด้วยความซาบซึ้ง เพราะนั่นหมายความว่าสถานรับเลี้ยงเด็กที่เปิดมานานกว่า 35 ปีจะไม่ปิดตัวลงตามที่ปรากฎเป็นข่าว เด็กทั้ง 65 คนจะยังอยู่ในการดูแลของครูน้อยต่อไป
วันนี้ "สถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย" ภายในซอยราษฎร์บูรณะ 26 คึกคักด้วยกองทัพสื่อมวลชนและผู้ใจบุญ ครูน้อยในวัย 73 สีหน้าเหนื่อยล้า นั่งอยู่บนโต๊ะทำงานตัวเดิมรอต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่มาให้กำลังใจ หลังจากทราบข่าวประกาศปิดทำการในวันที่ 31 ก.ค.
"วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นจากไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทุกวันนี้มีทั้งค่าขนมให้เด็กไปโรงเรียนวันละ 3500 บาท เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ 8 คนวันละ 2,000 บาท ค่ากับข้าว 3 มื้อ 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าแก๊ส และค่าจิปาถะอื่นๆ รวมทั้งหมดอยู่ราวๆ 200,000 บาทต่อเดือน
ส่วนรายรับทั้งหมดมาจากเงินบริจาค ผู้ที่บริจาคประจำทุกเดือนมีสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เดือนละ 30,000 บาท ดร.นิกร หงษ์ศรีสุข เจ้าของบริษัท เจมส์ แกลอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล แมนูแฟคเจอเร่อ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีอีก 4-5 รายให้เดือนละ 3000 บาท บวกกับเบี้ยบ้ายรายทาง รวมแล้วประมาณ 80,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ ส่วนที่ขาดก็ไปหยิบยืมเขา ถ้ายืมมาแล้วยังไม่พอก็ต้องเอาของไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน มันเป็นลูกโซ่อย่างนี้่มาหลายเดือนแล้ว"ครูน้อยแจกแจงรายรับรายจ่ายให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ครูน้อยเคยประสบกับภาวะวิกฤตเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กๆในบ้าน ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้กว่า 20 ราย รวมกว่า 5 หมื่นบาทต่อวัน จนมีหนี้สินพอกพูนสูงถึง 8 ล้านบาท
คราวนั้นเอง พล.ต.ท.พงศพัศ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการเจรจาประนีประนอมกับเจ้าหนี้ ควบคู่กับระดมเงินบริจาคจากประชาชน จนสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ครูหยุย-วัลลภ ตังคานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์ได้อาสาเข้ามาช่วยวางระบบการดำเนินงาน เช่น การบริหารเงินบริจาค จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันข้อครหานินทา
แต่วันนี้ คำถามที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เหตุใดปัญหาซ้ำๆเดิมๆจึงเกิดขึ้นไม่จบสิ้น
"หนี้นอกระบบครั้งนั้นเป็นหนี้ส่วนตัวที่ครูไปหยิบยืมเขามาแล้วไม่มีปัญญาใช้ เป็นภาระที่ครูต้องรับผิดชอบคนเดียว ไม่เกี่ยวกับสถานรับเลี้ยงเด็ก ตอนนั้นบ้านครูน้อยไม่ได้เดือดร้อน มีทุนสำรองเพียงพอ เด็กๆมีกินบริบูรณ์ แตกต่างจากครั้งนี้ที่ถึงขั้นไม่มีเงินให้เด็กๆไปโรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเงินบริจาคที่ลดน้อยลงสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนเรื่องครูหยุยที่เข้ามาให้คำปรึกษาเรื่องการทำมูลนิธิ ขอเรียนตามตรงว่าบ้านหลังนี้ครูน้อยเป็นคนก่อตั้งขึ้นมา เราทำตามนโยบายของเราเอง การทำบ้านเด็กของแต่ละคนย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างกันไป ครูหยุยก็แบบนึง ครูประทีปก็แบบนึง มีการวางระบบ ตั้งกองทุน แล้วจึงเปิดเป็นบ้าน มีหลักเกณฑ์เยอะ ระบบอาจจะดีและยั่งยืน แต่มันไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของเรา บ้านครูน้อยมีที่มาจากการที่เด็กอดอยากหิวโหย วิ่งมาเกาะรั้วหน้าบ้าน ขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยตามแนวทางของเรา จู่ๆวันหนึ่งมีคนมาตีกรอบให้ จากเคยให้ค่าขนมเด็กเท่านั้นต้องลดเหลือเท่านี้ ครูทำไม่ได้ ยอมรับว่าเป็นคนใจอ่อน ใครเดือดร้อนมาก็ช่วยทุกคนทั้งค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล บางครอบครัวพ่อแม่เจ็บป่วย ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ครูก็ช่วยหมด"