เว็บไซต์นิตยสารไทม์รายงานผลการศึกษาของ นิค วูล์ฟฟิงเกอร์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐฯ พบว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่คือ 28-32 ปี โดยผู้วิจัยนำข้อมูลการสำรวจสภาวะครอบครัวชาวอเมริกันระหว่างปี 2006-2010 และ 2011-2013 มาวิเคราะห์ และพบว่าคู่แต่งงานที่อยู่ในช่วงวัยนี้มีอัตราการหย่าร้างต่ำกว่าผู้ที่แต่งงานในช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกหลังจากแต่งงานมีอัตราการแยกทางน้อยมาก
ไทม์ระบุว่าผลการวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ Family Studies ของสถาบันวิชาการด้านการศึกษาสภาวะครอบครัว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2558 ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ เพราะที่ผ่านมาเรามักเชื่อกันว่าการแต่งงานช้าจะนำไปสู่ชีวิตคู่ที่ยั่งยืน
วูล์ฟฟิงเกอร์อธิบายว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า อัตราการหย่าร้างจะสูงขึ้นในช่วงอายุปลาย 30 ถึงต้น 40 โดยหลังจากอายุ 32 ปี โอกาสที่จะเกิดการหย่าร้างจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
เขาชี้ว่าเหตุผลที่คนวัย 28-32 ปี เหมาะที่จะแต่งงานนั้นมีหลายข้อ เช่น
-คนวัยนี้โตพอที่จะรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเองว่าเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งได้จริงหรือเป็นแค่ความพลุ่งพล่านของฮอร์โมน
-เขาหรือเธอได้เลือกเส้นทางชีวิตที่ตัวเองต้องการแล้ว และเริ่มมีความรับผิดชอบต่อเรื่องต่างๆ
-มีความมั่นคงทางการเงินในระดับหนึ่ง
-ยังไม่แก่เกินไปที่จะปรับตัว ปรับนิสัย ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตประจำวัน ฯลฯ ให้เข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิตคู่
-ส่วนมากคนวัยนี้ยังไม่เคยแต่งงานหรือมีลูกติดทำให้ไม่ต้องแบ่งเวลาเพื่อไปดูแลลูก
"บางคนอาจเรียกการศึกษานี้ว่าเป็น ‘ทฤษฏีโกลดิล็อคส์ของการแต่งงาน' ที่คู่แต่งงานต้องไม่เด็กหรือแก่จนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุผลสนับสนุนว่าช่วงอายุ 20 ตอนปลาย และ 30 ตอนต้น เป็นระยะที่ดีในการเริ่มต้นชีวิตคู่กับใครสักคน" นักสังคมวิทยาจาก มหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐฯ กล่าว
วูล์ฟฟิงเกอร์กล่าวอีกว่า คู่แต่งงานที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ส่วนมากมักเป็นคู่ที่รู้นิสัยใจคอกัน
ขณะที่ ฟิลลิป โคเฮน นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ กลับมีข้อมูลที่ต่างออกไป เขาอ้างข้อมูลจากการสำรวจสภาพสังคมอเมริกันที่ชื่อ American Community Survey ที่พบว่าคู่แต่งงานสูงวัยมักมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตแต่งงานน้อยที่สุด โดยอายุที่เหมาะสมแก่การมีชีวิตคู่และเลิกรากันน้อยที่สุดคือช่วงวัย 45-49 ปี แต่ช่วงวัย 15-19 จะเกิดการหย่าร้างมากที่สุด รองลงมาคือช่วงวัย 20-24 ปี 25-29 ปี และ 35-39 ปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ปัจจัยที่โคเฮนเชื่อว่าช่วยให้ชีวิตคู่ยืนยาวยังได้แก่ ความมั่นคงด้านการเงิน การศึกษาที่ดี การหมั้นก่อนย้ายมาอยู่ด้วยกัน และการแต่งงานก่อนมีบุตร ล้วนมีส่วนทำให้คู่แต่งงานมีชีวิตคู่ที่ยืนยาว