สายอาชีพที่เสี่ยงต่อภาวะโรคซึมเศร้า….และการฆ่าตัวตาย
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนายประชาธิป มุสิกพงศ์ หรือ สิงห์ มือกีตาร์วงสควีซ แอนิมอล (Sqweez Animal) อายุ 31 ปี กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตปี 2556 พบว่า คนไทยฆ่าตัวตายกว่า 3,900 รายต่อปี เฉลี่ยคนไทยฆ่าตัวตาย 1 คน ทุก 2 ชั่วโมง โดยช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 30-39 ปี โดยผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3.8 เท่า โดยเกือบ 90% ของผู้ฆ่าตัวตายต้องการความช่วยเหลือในด้านสุขภาพจิตขณะนั้น โดย 2 ใน 3 มีอาการของโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษา ที่สำคัญคือจากการศึกษาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักเขียนและศิลปิน เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 8-10 เท่า และมีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไป 6-18 เท่า
นพ.วรตม์ กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มศิลปินมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ เพราะคาแรกเตอร์ของตัวศิลปินเอง เช่น มีความสันโดดมากกว่าผู้อื่น มีอารมณ์ร่วมหรือเซนซิทีฟต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้ง่าย บวกกับสภาพแวดล้อมเศรษฐานะต่างๆ นอกจากนี้ เรื่องการรักษาภาพพจน์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย เพราะศิลปินที่มีชื่อเสียงบางครั้งไม่สามารถแสดงออกหรือระบายปัญหาของตนให้ใครรับทราบได้ และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต เพราะกลัวกระทบภาพลักษณ์ของศิลปิน ซึ่งคนทั่วไปจะต้องมองว่าศิลปินดาราจะต้องสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงได้รับความคาดหวังสูงจากคนในสังคม ทำให้บางคนรับแรงกดดันไม่ไหว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ศิลปินดาราเป็นเพียงคนธรรมดาที่สามารถรับความเครียดได้เหมือนกับคนปกติ แต่หากศิลปินดาราที่กังวลไม่กล้าปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เพราะกลัวคนนำไปขยายความ จริงๆ แล้วก็มีสถานบริการเอกชนหลายแห่งที่ให้บริการทางด้านนี้ ก็สามารถนัดเวลานอกเวลาราชการ หรือในวันที่คนไม่เยอะได้ เพื่อคลายความกังวลใจได้
ขอบคุณแหล่งที่มา มติชน