พ่อแม่ควรรู้!! มาทำความรู้จักกับ ภาวะของเด็กที่ถูกเร่งรัด!??


Hurried child syndrome หมายถึงภาวะที่เด็กถูกเร่งในหลายๆ เรื่อง ให้แสดงพฤติกรรมเกินวัย อาจจะแต่งตัวแต่งหน้าและทำพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ รวมถึงการใช้ชีวิตที่รับผิดชอบสูง มีกำหนดการสำหรับกิจกรรมต่างๆ มากมาย ถูกผลักให้เข้าโรงเรียนเข้าสังคมเร็วกว่าเด็กอื่น ต้องเรียนรู้มากทั้งด้านการเรียนและการทำกิจกรรมหรือแม้แต่เรื่องเพศ ถูกเร่งรัดกดดันตั้งแต่เช้าจนค่ำจนขาดเวลาที่จะเป็นตัวของตัวเองมากพอ ขาดโอกาสหัวเราะสนุกสนาน หรือทำตัวตามวัยกับเพื่อนที่อายุเท่ากัน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ

สาเหตุ งานวิจัยที่วิเคราะห์พ่อแม่ที่เร่งรัดลูก พบว่ามีความเป็นมาจากการที่พ่อแม่เลี้ยงลูกเพื่อชดเชยความล้มเหลวหรือความขาดแคลนของตนเองในอดีต พ่อแม่ที่เรียนไม่ดีมาก่อน ขาดแคลน ต้องทำงานหนัก หรือมีเกียรติที่ด้อยกว่าคนอื่นในสังคม จึงพยายามผลักดันให้ลูกพัฒนาโดยเฉพาะในด้านที่ตนเองไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ เช่น แม่เรียนไม่เก่ง จะเร่งรัดด้านการเรียนของลูก หรือพ่อไม่มีโอกาสเรียนดนตรีตอนเด็กเพราะยากจน จึงบีบบังคับให้ลูกเรียนดนตรีตามความใฝ่ฝันของตนเอง หรือแม่ที่ทำงานหนักเพื่อหาเงินให้ตายายและน้องๆในครอบครัวใช้จ่ายตั้งแต่เด็ก จะส่งเสริมให้ลูกใช้เงินเกินฐานะโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น

การส่งเสริมเร่งรัดเด็กในด้านต่างๆ จนเด็กมีความสามารถขึ้นเป็นความภาคภูมิใจในตัวพ่อแม่ที่ได้คุยกับผู้อื่นอย่างสง่าผ่าเผยว่าลูกของฉันทำได้ ความสามารถของเด็กจึงเสมือนเป็นหน้าเป็นตาให้พ่อแม่ เพียงแค่ส่งเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือค่าเล่าเรียนแพงๆ หรือเข้าโรงเรียนนานาชาติที่หรูหรา พ่อแม่ก็รู้สึกดี ใครจะมาดูถูกฉันไม่ได้อีกแล้ว

เด็กที่ถูกเร่งรัดในด้านการเรียน มีลักษณะคือมักจะเข้าเรียนเร็ว หรือครูให้ข้ามชั้นเพราะมีความรู้มาก (เนื่องจากพ่อแม่จะสอนเนื้อหาที่เกินกว่าอายุ) ในระยะแรกของการเรียน เด็กกลุ่มนี้มักจะมีผลการเรียนดี ความพึงพอใจของเด็ก คือการทำให้พ่อแม่พอใจในผลการเรียน แต่เมื่อการเรียนยากขึ้น ถูกเร่งรัดเนื้อหาวิชาการ ต้องเรียนนานจนไม่รู้จุดสิ้นสุด จะเริ่มเห็นความเฉื่อยชา ไม่สนุก และเบื่อหน่ายจนในที่สุดจะละทิ้งวิธีการที่เคยพยายามเรียนให้ได้ตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็วิตกกังวลกลัวว่าพ่อแม่จะไม่ยอมรับ เมื่อการเรียนตามไม่ทัน จะเริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิ ขาดความสนใจ ไม่จดจำ หรือมีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะและปวดท้องที่หาสาเหตุทางกายไม่พบ เป็นต้น

เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเข้าวัยรุ่นซึ่งตามปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม เด็กกลุ่มที่ถูกเร่งรัดก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่เช่นกัน ถ้าปรับตัวไม่ได้จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทุกด้าน แต่ความที่พื้นฐานดูมั่นคงแค่สภาพภายนอก และสภาพภายในกลวง ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แปรปรวนหรืออาจไปในทิศทางตรงข้ามได้โดยสิ้นเชิง คืออาจจะพบพฤติกรรมก้าวร้าวต่อต้านสังคม ไม่ยอมเรียน ปรับตัวไม่ได้ หรืออารมณ์แปรปรวน ซึ่งนำไปสู่การใช้สารเสพติด การขับรถซิ่ง ก่อกวนสังคม พฤติกรรมทางเพศเบี่ยงเบน หรือซึมเศร้า และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับเด็กได้ง่ายและรุนแรงคาดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายในวัยรุ่นด้วย


พ่อแม่ควรรู้!! มาทำความรู้จักกับ ภาวะของเด็กที่ถูกเร่งรัด!??


ปฏิกิริยาของเด็กที่มีต่อความเครียดจากการถูกเร่งรัด

ความที่เคยชินกับการทำตามกติกาที่พ่อแม่วางไว้ตั้งแต่เด็ก อาจดูเหมือนว่าสนุกสนานต่อการเรียนรู้ในช่วงแรก โดยแสดงพฤติกรรมเกินวัย ทั้งคำพูดและท่าทาง ระยะแรกพ่อแม่จะชื่นชมพฤติกรรมเกินวัยของเด็ก เพราะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบ จึงเป็นเหตุให้พ่อแม่สบายใจ จนให้เวลากับเด็กลดลง ซึ่งอาจถึงขั้นละเลยหรือละทิ้ง เด็กเองก็รับรู้ถึงเหตุผลต่างๆ ที่พ่อแม่ยกขึ้นมาอ้าง เพียงแต่มีความรู้สึกภายในตัวเองที่เหงา เศร้า และไม่สามารถแสดงหรือเล่าความรู้สึกเหล่านั้นออกมาได้ เพราะเท่ากับเป็นการแสดงลักษณะแบบเด็กเล็กที่พ่อแม่ไม่พอใจ และส่งผลให้ได้รับคำตำหนิตามมาได้

เด็กพยายามจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ จึงมีบุคลิกภาพแบบชอบแข่งขัน ไขว่คว้าหาความสำเร็จที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ (achievement striving) กระวนกระวาย อ่อนเพลีย ความอดทนต่ำและหงุดหงิดง่าย เอาจริงเอาจัง ไม่ร่าเริง แจ่มใส รู้สึกอึดอัดเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน เครียดและวิตกกังวลสูง แสดงออกเป็นพฤติกรรมเจ้าระเบียบ บีบคั้น เน้นความถูกต้อง ยึดกับกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้มากเกินไป ถ้าไม่เป็นไปตามแผนที่พ่อแม่คาดหวัง เด็กมักจะวิตกกังวลมาก มีอาการกระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ ไม่รู้ว่ากลัวอะไร บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผลการเรียนไม่ดี อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าและร้องไห้ง่าย หรือมีอาการเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น ไม่ยินดีเริ่มหรือไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยสนใจ ชอบอยู่บ้านมากกว่า แสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคม พูดปด ขโมย ลืมหรือปฏิเสธไม่ทำงานบ้าน ผลการเรียนตกลง แสดงความสนใจน้อยหรือไม่สนใจต่อการเข้าเรียนและทำการบ้าน และหันมาพึ่งพาพ่อแม่มากกว่าเดิม

มีคำพูดอธิบายความรู้สึกภายในของเด็กกลุ่มนี้ว่า "คำพูดและพฤติกรรมสะท้อนความเป็นผู้ใหญ่ แต่สภาวะจิตใจยังเป็นเด็ก"

เด็กและวัยรุ่นกลุ่มนี้มักจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น
1. ปัญหาสุขภาพ เช่น ตัวเล็ก ไม่สูง ไม่กินอาหาร เป็นต้น ซักประวัติจะพบว่าขาดการออกกำลังกาย บางรายเป็นลม บ่นเหนื่อย หมดแรง บ่นปวดศีรษะ ปวดท้องโดยหาสาเหตุทางร่างกายไม่พบ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากความเครียดที่เกินกว่าจะควบคุมได้

2. ปัญหาการเรียน เช่น ผลการเรียนลดลง ไม่มีสมาธิ เรียนไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง ความจำไม่ดี รู้สึกเฉื่อย ไม่สนุกหรือเบื่อการเรียน เป็นต้น จนบางครั้งอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นได้

3. ปัญหาด้านอารมณ์ ไม่แจ่มใส แยกตัว วิตกกังวลสูง ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย เจ้าระเบียบ เน้นความถูกต้อง และยึดกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จนอาจมีปัญหาในการปรับตัวกับเพื่อน

4. ปัญหาพฤติกรรม อาจจะมีพฤติกรรมเหมือนพฤติกรรมของวัยรุ่นทั่วไป แต่จะรุนแรงและยาวนานกว่า เช่น เฉื่อยชา ไม่รับฟังความคิดเห็นของพ่อแม่ แยกตัว ไม่ร่วมกิจกรรม นอนน้อย ต่อต้านสังคม ไม่ยอมเรียน หรือก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ และจริยธรรมต่ำ ไปจนถึงเคร่งครัดกับตัวเองและคนอื่นมากเกินไป หรือแสดงพฤติกรรมเกินวัยทั้งคำพูดและท่าที

5. ปัญหาการปรับตัว เช่น ปรับตัวกับพ่อแม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ หรือเพื่อนไม่ได้ ซึ่งการปรับตัวที่มีปัญหานี้เป็นผลมาจากการเร่งรัดเด็ก

6. ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ เช่น แสดงพฤติกรรมทางเพศเกินพอดี ทั้งด้านการพูด การแสดงออก หรือแต่งตัวเกินวัย มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ตั้งครรภ์ ทำแท้ง หรือเปลี่ยนคู่บ่อย เป็นต้น

7. ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเสพสารเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งมักจะพบบ่อยในวัยรุ่นชายและวัยรุ่นหญิงบางราย


พ่อแม่ควรรู้!! มาทำความรู้จักกับ ภาวะของเด็กที่ถูกเร่งรัด!??


การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของเด็กที่ถูกเร่งรัด

เด็กและวัยรุ่นต้องการเวลาในการเติบโตและพัฒนา ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่เหมาะสม พอดี และสมดุลทุกด้าน ควรให้เวลาเด็กและวัยรุ่นคิดหรือทำในสิ่งที่เขาสนใจ ใช้ความสามารถทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์งาน โดยให้งาน กิจกรรม และการเล่น ที่ลูกได้ทำ ทั้งในส่วนที่พ่อแม่กำหนดและสิ่งที่ลูกชอบ สนใจ หรือรู้สึกสนุก ควรส่งเสริมให้ทำจนสำเร็จและเกิดทักษะใหม่ๆ ตามมา

เปิดโอกาสให้เด็กและวัยรุ่นแสดงความคิดเห็น ช่วยคิดวางแผน พัฒนาความสามารถรอบด้าน เปิดพื้นที่ให้ลองเรียนรู้ หัดทำ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน. แต่ไม่ใช่ไปผลักดัน ให้ความสนใจในกิจกรรมและสิ่งที่เขาทำพร้อมแสดงความชื่นชม

เมื่อลูกไม่อยากทำ เริ่มไม่สนใจ วิตกกังวลเกี่ยวกับกิจกรรม มีปัญหาเรื่องเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อน ก็เข้าไปช่วยค้นหาเรื่องราวตามความเป็นจริง ซึ่งอาจแก้ไขให้ลุล่วงได้ หรือบางครั้งต้องหยุดกิจกรรมไปในที่สุด ให้ค่อยๆ ฝึกหัดไปเป็นขั้นตอนตามระยะที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

การป้องกัน การป้องกันย่อมให้ผลดีกว่าการรักษาเสมอ แต่น่าเสียดายที่ระบบสาธารณสุขไทยยังให้ความสำคัญกับครอบครัวน้อยมาก ปล่อยปละละเลยให้พ่อแม่ต่างคนต่างเลี้ยงดูลูกไปตามใจชอบ และเมื่อมาพบกับปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ไม่แข็งแรง เด็กไทยจึงถูกพัฒนาแบบไร้ทิศทางและมีคุณภาพไม่ดีพอ

การป้องกันต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้พ่อแม่และครูทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพการเลี้ยงดู ฝึกฝน และอบรมเด็กอย่างถูกต้องมาตั้งแต่เล็ก การเร่งรัดและกดดันแต่พอเหมาะจึงจะทำให้เด็กพัฒนาได้สูงสุด แต่เมื่อแรงกดดันเด็กมากเกินพอดี จะต้องมีระบบค้นหาปัญหาและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม

งานวิจัยพบว่าเด็กที่จัดการกับความเครียดได้ดีมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ปรับตัวเข้ากับคนอื่นง่าย วางตัวง่ายๆ ใครอยู่ด้วยสบายใจ มีความสามารถในการเข้าสังคม (social competence)

2. เป็นคนมีเสน่ห์ ทำให้คนอื่นประทับใจได้ และมั่นใจในตนเอง (self-confidence)

3. เป็นตัวของตัวเอง (independence) พึ่งตนเองได้ อยู่ได้ด้วยตนเองอย่างสงบ และจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับความต้องการของตน

4. เข้าใจและเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเอง พัฒนาตนเองได้ และจัดการกับปัญหาโดยมองเหตุการณ์ด้านบวกตามความเป็นจริง

5. เป็นผู้มีความสำเร็จ เป็นผู้มีผลผลิต (producer) ชอบทำงาน มีงานอดิเรก ผลการเรียนดี มักเป็นผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์


หากพ่อแม่และครูอาจารย์จะคาดหวังและเรียกร้องให้เด็กทำสิ่งที่เกินอายุ หรือคาดหวังให้ประสบความสำเร็จตามความต้องการ พ่อแม่และครูอาจารย์จะต้องฝึกฝนและให้ความช่วยเหลือไปพร้อมกัน เพื่อให้ความเครียดลดลง ให้กำลังใจสนับสนุน (encouragement and support) และให้ความหวัง โดยให้เด็กรับผิดชอบในภารกิจให้มอบหมาย (commitment) แต่ก็จัดเวลาอิสระ (free time) ที่เด็กจะมีเวลาเป็นของตนเอง เมื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ซื่อสัตย์ หวังดี และใกล้ชิดเด็ก สิ่งที่จะตามมาคือเด็กจะซื่อสัตย์และภักดี (loyalty) ต่อพ่อแม่และครูอาจารย์เช่นกัน

สรุป วิธีการเลี้ยงดูส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านบุคลิกภาพของเด็กไปตลอดชีวิต ผลจากการเร่งรัดทำให้เด็กมักแสดงออกมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพแบบแข่งขันสูง ชอบเปรียบเทียบ และไขว่คว้าหาความสำเร็จที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ (achievement striving) แต่จะเครียดง่าย กระวนกระวาย อ่อนเพลีย มีความอดทนต่ำและหงุดหงิดง่าย เอาจริงเอาจัง ไม่ร่าเริงแจ่มใส อึดอัดเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน เครียดและวิตกกังวลสูง แสดงออกเป็นพฤติกรรมเจ้าระเบียบ บีบคั้น เน้นความถูกต้อง และยึดกับกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้มากเกินไป

เด็กทุกคนต้องการเวลาสำหรับการพักผ่อน เวลาที่เป็นอิสระจากคำสั่ง เพื่อให้สมองได้พักและย่อยข้อมูล การฝึกฝนเด็กให้เป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการอาจเกิดปัญหาตามมามากกว่าการส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาไปตามศักยภาพและความถนัด ควรจะคงสภาพให้เด็กได้แสดงความเป็นเด็ก สนุกสนาน มีความสุขในการใช้ชีวิต และมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ถึงแม้ว่าเด็กจะยังไม่สามารถทำไปถึงระดับที่พ่อแม่ต้องการได้ก็ตาม


พ่อแม่ควรรู้!! มาทำความรู้จักกับ ภาวะของเด็กที่ถูกเร่งรัด!??


ขอบคุณที่มา ::::: หมอมินพระราม6 :: ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย :: Kidmazon kids


https://www.facebook.com/1404769783067839/photos/a.1424351057776378.1073741859.1404769783067839/1639322949612520/?type=1


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์