วันนั้นพี่เหลือเงินแค่500 เรื่องเล่าจากแม่ค้าน้ำพริกถุงละ10บาทในตลาดนัด
พี่แดงเป็นแม่ค้าขายน้ำพริกถุงละ10บาท เป็นน้ำพริกที่ทำสำเร็จมาจากบ้าน
มีผักต้มมาด้วยเป็นบุฟเฟ่ลูกค้าตักได้จานละ10บาท มีปลานิลนึ่งตัวละ20บาท
ตลาดที่เราขาย เราไม่ขายกันแพงค่ะ
เพราะพวกเราอยู่ชานเมือง
กลุ่มลูกค้าหลักๆเป็นผู้ใช้แรงงาน และคนในพื้นที่รายได้ไม่สูงมาก
ราคาสินค้าในตลาดบ้านเรารวมๆ
อยู่ที่เฉลี่ย10-40บาท ตลาดที่ค่าครองชีพต่ำ ยังมีอยู่อย่างน้อยก็จุดนึงในกรุงเทพฯค่ะ
พี่แดงเคยเล่าให้ฟังในวันหนึ่งที่ฝนตกว่า
วันแรกที่พี่แดงขายน้ำพริกก็เป็นวันฝนตกแบบนี้แหละ พี่แดงชอบวันฝนตกเพราะเธอจะขายดีขายได้เงินไว เพราะคนจะรีบมาตลาดให้ทันก่อนฝนตก หรือหลังฝนตกคนก็จะแห่ออกมาหาของกินมากกว่าปรกติ
เราเห็นด้วย วันฝนตกสำหรับเราก็เป็นวันที่มักจะขายดีมากจริงๆ
พี่แดงเข้ากรุงเทพฯมาเมื่อตอนอายุ18
มาเป็นสาวโรงงานตั้งเมื่อ10กว่าปีก่อน
ค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง200บาท
อาศัยทำโอทีถึงได้มีเงินส่งให้ที่บ้านใช้
รายได้เดือนนึง7,000กว่าบาท
ค่าห้องเช่า900บาท ห้องน้ำรวม
กินแค่น้ำพริกกับข้างเหนียวเป็นอาหารหลัก และผักที่แอบปลูกไว้แถวห้องเช่า
เป็นอย่างนั้นมาเป็น10ปี จนพี่แดงได้ขึ้นเงินเดือนเป็น12,000บาท และมีครอบครัวสามีทำงานเป็นคนขับรถส่งของเงินเดือนหมื่นกว่าบาทเหมือนกันรวมแล้วทั้ง2คนมีเงินเหลือเก็บต่อเดือนประมาณหนึ่ง ตอนนี้ได้อยู่ห้องเช่าที่ดีขึ้นแล้ว พี่แดงคิดว่าชีวิตมีแค่นี้ก็เพียงพอมากแล้วสำหรับเด็กบ้านนอก
ที่จบแค่ม.3คนหนึ่ง พี่แดงโชคดีที่สามีไม่ดื่มไม่เหลวไหล
และทั้ง2ไม่เล่นหวย
ปี2554 ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่
นาที่บ้านพี่แดงล้ม พี่แดงต้องเงินเก็บที่มีทั้งหมดส่งไปช่วยเหลือที่บ้าน แต่โชคร้ายกว่านั้น
ปลายปีโรงงานที่พี่แดงกับสามีทำงานเจ๊ง
พนักงานทุกคนถูกลอยแพ ไม่มีใครได้รับเงินชดเชยสักบาท
พี่แดงกับสามีเหลือเงินเก็บอีกเพียงน้อยนิด พอแค่ค่าห้องเดือนถัดไป และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ
ต้องรีบหางานก่อนที่จะไม่เหลือรายได้เลยสักบาทเดียว
เย็นวันหนึ่ง พี่แดงก็ไปซื้อน้ำพริกที่ตลาดนัดแถวห้องเช่าเหมือนเคย อยู่ๆพี่แดงก็เห็นว่า
เออน้ำพริกถุงละ10บาท
ทำไมป้าเค้ายังทำเป็นอาชีพขายได้
จากที่ไม่เคยคิดอยู่ดีๆก็คิด
พี่แดงจึงยืนสังเกตอยู่นาน ก็เห็นว่าป้าขายได้วันละเป็นร้อยถุง
มีน้ำพริกประมาณ5อย่าง
อย่างละประมาณ20กว่าถุง
ไหนจะผักต้มอีก ถ้าป้าขายได้แค่20ถุง
ก็มากกว่าค่าแรงต่อวันของพี่แดงแล้ว
พี่แดงคิดได้ว่าความจริงพี่แดงเองก็ทำน้ำพริกเป็น
เด็กบ้านนอกอย่างพี่แดงโตมากับน้ำพริก เพราะมันคือกับข้าวบ้านๆ
ที่ทุกบ้านต้องเคยสอนลูกเมื่อโตเป็นสาว
แต่ที่ไม่ซื้อของมาทำเองเพราะมันจุกจิก
และเป็นเงินหลายสิบบาท
ถึงจะทำได้หลายมื้อก็เถอะ
แต่ซื้อเค้ากิน10บาททุกอย่างก็จบ
นั่นทำให้พี่แดงก็เริ่มเห็นช่องทาง
พี่แดงกลับมาพร้อมน้ำพริก1ถุง
และผักต้ม2-3อย่างบอกกับสามีว่าเธอจะทำน้ำพริกขาย ถ้ามันไม่ดีอย่างที่คิดอย่างมากเราก็แค่หางานใหม่ทำกันต่อไป ถือว่าขายไปฆ่าเวลาระหว่างหางานใหม่ในสถานการณ์แบบนี้
พี่แดงเป็นคนโชคดี ที่สามีสนับสนุน
แล้วทั้ง2คนก็ควักเงินมารวมกัน
ได้500บาทสำหรับการลงทุนครั้งนี้ พี่แดงตัดสินใจจะไปขายหน้าโรงงานใกล้ๆห้องเช่า จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าที่ อีกทั้งยังไม่มีใครขายน้ำพริก
และสำรวจว่าในบ้านมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้อะไรบ้าง พี่แดงมีครก มีจาน มีหม้อ มีอุปกรณ์ทำครัวขนาดหย่อมๆ
โต๊ะที่ใช้วางพี่แดงไปยืมจากร้านขายของชำที่คุ้นกันดีมา
สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ
ต่อมาต้องลงทุนซื้อของมาทำน้ำพริก
ผักต้มร้อยกว่าบาท พริกกระเทียม ปลาทู และอื่นๆทั้งหมดเกือบๆ500บาท แต่ยังเหลือเงินทอน (ยังเหลือเงินทอน!)
แล้ววันแรกที่ขายก็เริ่มต้น
พี่แดงทำน้ำพริกง่ายๆ5อย่าง
ตักได้อย่างละ20กว่าถุง
แน่นอนว่ามันไม่ค่อยมีเนื้อปลาทูหรอก
แต่ก็ได้อิ่มแน่นอน
เพราะเธอขายแค่10บาท ปริมาณของน้ำพริกพี่แดงตักได้อย่างคุ้นเคยเพราะซื้อกินเองเป็นประจำ
พี่แดงไปตั้งหน้าโรงงานในตอนเย็น
วันนั้นพี่แดงมีน้ำพริกร้อยกว่าถุง
และผักต้มจำนวนหนึ่ง
และวันแรกพี่แดงขายน้ำพริกได้ไม่หมด
เธอเริ่มกังวลว่าจะได้หรือขาดทุน
แต่พอกลับมาบ้าน เธอนับเงินได้700กว่าบาท
ถือว่าได้กำไรประมาณ200บาท
เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้ดีใจมาก
แล้วพี่แดงก็หักเงิน500บาทไปจ่ายตลาดเพื่อขายน้ำพริกทุกวัน วันละ100กว่าถุงนี่แหละ
ในที่สุดยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนขายหมดได้ทุกวัน จนเป็นเงินวันละประมาณ1,500ต่อวัน
ในเวลา2เดือน
ลืมไปเลยเรื่องหางานใหม่
พี่แดงพูดไปยิ้มไป
ในที่สุดพี่แดงกับสามีก็เก็บเงินจนดาวน์รถกระบะมือ2ได้หนึ่งคัน
ปัจจุบันพี่แดงมาขายที่ตลาดนัดเดียวกันกับเรา ยอดขายวันละ200กว่าถุง
สามีขายอีกจุดยอดขายประมาณเดียวกัน รายได้รวมกันก็บวกกันดูเอาเองนะคะ
จะเห็นได้ว่า พี่แดงเค้าเริ่มจากการสำรวจ
สำรวจสิ่งที่ตัวเองมี
ขายความสามารถที่ตัวเองทำได้
วิเคราะห์ช่องทางจากสิ่งที่คุ้นเคย
มองหาช่องทางการค้าจากสิ่งที่จับทุกวัน
เริ่มต้นจากสิ่งที่เค้ารู้จักดี และสิ่งแวดล้อมที่อยู่
จากการเป็นลูกค้าประจำก้าวสู่การเป็นแม่ค้าเอง
เป็นงานที่ไม่เกินกำลังอีกด้วย
ถึงแม้จะเป็นความเสี่ยงในทุกๆวัน
แต่วันที่พี่แดงมีรายได้ พี่แดงก็บริหารได้
เพื่อสำรองไว้ในวันที่ยอดอาจจะตก
ขนาดแบ็คกราวพี่แดงเค้าประหยัด
ไม่ประมาททางการเงิน
ก็ยังมีจุดที่เค้าช๊อตอย่างช่วยไม่ได้ในวันหนึ่ง
เป็นไงกันบ้าง
อ่านแล้วได้แง่คิดอะไรกันบ้างคะ
เราเองก็เป็นคนนึงที่ผันชีวิตมาเป็นแม่ค้า ล้มลุกคลุกคลานมาก 5555555
ตอนนี้เริ่มตั้งไข่ได้บ้างแล้ว
กำลังหัดคลานเตาะแตะ
ได้พี่แดงเป็นแม่ค้าไอดอลเลย
จุดเริ่มต้มพี่แดงลำบากกว่าเราอีก
สู้ๆนะคะทุกคน
หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้ามาอ่านค่ะ ^_^