นักวิจัยชาวอังกฤษชี้ งูไม่ใช่ตัวการปลิดชีพคลีโอพัตรา
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ คัดค้านความเชื่อเดิมที่ว่า พระนางคลีโอพัตรา ราชินีผู้ทรงเสน่ห์ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรอียิปต์โบราณองค์สุดท้าย ฆ่าตัวตายด้วยการให้งูพิษกัด โดยนักวิจัยชี้ว่าเรื่องเล่าดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลและไม่น่าเป็นไปได้ในทางวิชาการ
จอยซ์ ทิลด์สลีย์ นักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และแอนดรูว์ เกรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (herpetology) จากพิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ ได้ร่วมกันศึกษาและลงความเห็นว่า งูพิษไม่น่าจะเป็นตัวการปลิดชีพคลีโอพัตราได้ เนื่องจากงูพิษที่เชื่อว่าใช้ในการฆ่าตัวตายดังกล่าวน่าจะเป็นงูเห่า ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะซ่อนไว้ในตระกร้าตามที่เล่าขานกันมาได้ เพราะงูเห่ามีขนาดยาว 5-6 ฟุต และอาจจะมีความยาวสูงสุดได้ถึง 8 ฟุต (2.5เมตร)
นอกจากนี้ั ตำนานที่ว่ากันว่างูพิษได้ปลิดชีพคลีโอพัตราและนางกำนัลอีกสองคนด้วยการกัดสามครั้งติดต่อกันนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อีก เนื่องจากที่จริงแล้ว งูจะไม่ปล่อยพิษออกมาทุกครั้งที่กัด เพราะต้องเก็บสงวนเอาไว้สำหรับการล่าและป้องกันตัวที่จำเป็น โดยคนเรามีโอกาสถูกพิษงูเพียง 10% จากจำนวนครั้งทั้งหมดที่งูกัด อย่างไรก็ตาม หากถูกพิษงูเข้าแล้ว จะทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายค่อยๆตายลง และเสียชีวิตได้ในที่สุด
ทั้งนี้ พระนางคลีโอพัตราซึ่งมีความสัมพันธ์กับจูเลียส ซีซาร์ และ มาร์ค แอนโทนี ผู้นำอาณาจักรโรมันโบราณ สิ้นพระชนม์ด้วยการปลิดชีพตนเอง หลังจากพ่ายแพ้ในเกมการเมืองและสงครามต่อจักรพรรดิออกัสตัส ผู้นำอาณาจักรโรมันคนใหม่ ในราว 30 ปีก่อนคริสตกาล