ท่าทางของศีรษะช่วยสื่ออารมณ์ได้ดี นะรู้ยัง!?
เมื่อคนเราพูดหรือร้องเพลง เราอาจจะพยักหน้า เอียงศีรษะ หรือโค้งคำนับ เพื่อเน้นคำพูดนั้นๆ แต่ท่าทางเหล่านี้ มีประสิทธิภาพแค่ไหนในการสื่ออารมณ์ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ที่แคนาดายืนยันว่า ท่าทางเหล่านี้สื่ออารมณ์ได้เป็นอย่างดี
สตีเฟน อาร์. ลิฟวิงสโตน และ แคโรลีน พาลเมอร์ นักวิจัยแห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแม็คกิล แคนาดา พบว่า คนเราจะสามารถประเมินอารมณ์ได้จากท่าทางของศีรษะ แม้ว่าจะไม่ได้ยินเสียงหรือมองเห็นสีหน้าเลยก็ตาม
การค้นพบครั้งนี้ชี้ว่า ข้อมูลอารมณ์ที่มองเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของศีรษะนั้นสามารถนำไปพัฒนาให้คอมพิวเตอร์รู้จักอารมณ์ของมนุษย์อัตโนมัติ หรือนำไปเพิ่มเติมในส่วนติดต่อระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้งานต่อได้หลากหลาย เช่น ให้บริการในโรงแรม หรือช่วยเหลือผู้สูงอายุ
ในงานวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของศีรษะมนุษย์ใน 3 มิติตรวจจับการเคลื่อนไหวในขณะที่นักร้องพูดหรือร้องเพลงด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย หลังจากนั้น นำวิดีโอนั้นไปให้ผู้ชมได้ดูโดยที่ไม่เปิดเสียงและไม่แสดงสีหน้าให้ดูเพื่อที่ว่าจะให้เห็นเพียงการเคลื่อนไหวของศีรษะ แล้วให้ผู้ชมตอบว่าอารมณ์ที่นักร้องคนนั้นต้องการสื่อคืออะไร
"เราได้ค้นพบว่า เมื่อคนเราเริ่มพูด เรามักจะขยับศีรษะเพื่อเปิดเผยอารมณ์ที่ต้องการจะสื่อออกมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรายังได้ค้นพบอีกด้วยว่า คนเราก็สามารถระบุอารมณ์ของผู้พูดได้อย่างถูกต้องจากการดูแค่การเคลื่อนไหวของศีรษะ" พาลเมอร์ เผย
"ศีรษะที่เคลื่อนไหวในขณะที่มีความสุขกับยามที่เศร้านั้นแตกต่างกันนะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการร้องเพลง" ดร.ลิฟวิงสโตน เผย
"แม้ว่างานวิจัยนี้จะอาศัยข้อมูลของคนที่พูดภาษาอังกฤษในอเมริกาเหนือ แต่การศึกษาที่การเคลื่อนไหวของศีรษะนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจ ในการศึกษาเรื่องการสื่ออารมณ์ในภาษาอื่นๆ"
แนวคิดของการศึกษาครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นมาจากผับที่เสียงอึกทึกแห่งหนึ่ง โดย ดร.ลิฟวิงสโตนเผยว่า "มีอยู่คืนหนึ่งที่มอนทรีออล ผมอยู่กับเพื่อนในแลบที่บาร์ คืนนั้นเป็นคืนที่สนุกมาก มีคนเยอะแยะ แสงสลัวๆ และเพลงบางเพลงก็เสียงดังเหลือเกิน มีอยู่จังหวะหนึ่งที่เพื่อนผมเริ่มพูด ผมรู้ว่าเขาคงจะตื่นเต้นทั้งที่ผมก็ไม่ได้รู้ว่าเขาพูดอะไรหรือไม่ได้เห็นสีหน้าเขาชัด หลังจากนั้น ผมก็เลยมาคิดได้ว่า ท่าทางของศีรษะของเขานั้นบอกผมว่าเขากำลังจะบอกอะไร"
และพาลเมอร์ ก็เสริมว่า "การค้นพบของเราน่าจะนำไปประยุกต์ใช้งานได้กับสถานการณ์ที่ไม่มีเสียง เช่น ใช้ในการระบุอารมณ์อัตโนมัติในบริเวณที่มีเสียงดัง คนเยอะ หรือในผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยการดูจากการเคลื่อนไหวของศีรษะขณะที่คุยกัน หรืออาจจะนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์และระบบหุ่นยนต์ โดยการเพิ่มฟังก์ชันตรวจจับการเคลื่อนไหวของศีรษะนี้น่าจะช่วยให้หุ่นยนต์รูปร่างคล้ายคนใกล้เคียงสิ่งมีชีวิตมากขึ้น และเข้าถึงพวกเรามากขึ้น"
อ้างอิง: McGill University. (2015, October 27). Let your head do the talking: Head movements play an important role in conveying emotions through speech and music. ScienceDaily. Retrieved November 1, 2015 fromwww.sciencedaily.com/releases/2015/10/151027132930.htm
งานวิจัย: Steven R. Livingstone, Caroline Palmer. Head Movements Encode Emotions During Speech and Song..Emotion, 2015; DOI:10.1037/emo0000106