เจ้าไลยได้เริ่มต้นรับราชการโดยเริ่มจากการเป็นมหาดเล็ก แล้วจึงได้เลื่อนเป็นหุ้มแพร และได้เลื่อนเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ เมื่อจมื่นศรีสรรักษ์มีอายุได้ 18 ปี ได้ไปก่อเหตุทำร้ายพระยาแรกนาแล้วหนีไปหลบอยู่ในวัด พระเจ้าอยู่หัว(สมเด็จพระเอกาทศรถ)จึงให้จับตัวออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดาไปขัง จมื่นศรีสรรักษ์จึงเข้ามามอบตัว มีรับสั่งให้จับไปขังคุก 5 เดือน แต่ เจ้าขรัวมณีจันทร์ พระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทน จมื่นศรีสรรักษ์จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมารับราชการตามเดิม แต่จมื่นศรีสรรักษ์ก็ยังก่อเรื่องวุ่นวายอีกจนถูกจำคุกอีกสองหน ต่อมาได้เลื่อนเป็นจมื่นสรรเพชญ์ภักดี และได้เลื่อนเป็นออกญาศรีวรวงศ์ตามลำดับ เป็นขุนนางที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก
จนถึง พ.ศ. 2171 สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(เป็นโอรสของพระเอกทศรสกับพระสนมได้ราชสมบัติจากการแย่งชิงมาจากพระศรีเสาวภาคย์ผู้เป็นโอรสของพระอัครมเหสี) ทรงพระชวรหนัก จึงให้ออกญาศรีวรวงศ์เชิญกระแสรับสั่งออกในที่ประชุมขุนนางเรื่องรัชทายาท ซึ่งเหล่าขุนนางมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย
สนับสนุนพระเชษฐาธิราช พระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีพระชนมายุ 14 ชันษา
สนับสนุนพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ฝ่ายนี้มี ออกญากลาโหม ออกญาท้ายน้ำ ออกหลวงธรรมไตรโลก ออกพระศรีเนาวรัตน์และออกพระจุฬา (ราชมนตรี) สนับสนุน
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชประสงค์ให้พระเชษฐาธิราชได้ครองราชสมบัติ ทรงมีรับสั่งให้ออกญาศรีวรวงศ์ แจ้งให้บรรดาเสนาบดีทราบ