ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดขึ้นจากการที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ภายในร่างกายทางใดทางหนึ่ง เชื้อโรควิ่งไปตามกระแสเลือด ก่อให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อที่บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั่วทั้งร่างกาย ปกติแล้ว เมื่อเช้าโรคเข้าสู่ร่างกาย จะมีเม็ดเลือดขาวคอยทำหน้าที่จับเชื้อโรคนั้นๆ ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่ร่างกายอยู่ในภาวะอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ จึงเป็นเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดจนมีอาการติดเชื้อได้
ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
> ความเจ็บป่วย ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้ เชื้อโรคจึงสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ถูกตัดม้ามก็มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเช่นกัน
> การทำหัตถการต่างๆ เช่น การสวนทวาร หรือการเสียบสายสวนปัสสาวะ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้หมด จึงเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเรื่องการใส่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปในร่างกายให้มาก เช่น ถ้าจำเป็นต้องให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำผ่านทางสายยาง ก็ไม่ควรเสียบเข็มคาหลอดเลือดดำไว้นานเกิน 3-4 วันต่อครั้ง
> สาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้เสพยาเสพติด ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคผ่านทางเข็มฉีดยาแล้ว ในสารเสพติดยังมีเศษสิ่งสกปรกจำนวนมาก และอาจเกิดตะกอนหากละลายน้ำไม่ดี เมื่อตะกอนเหล่าเข้าสู่กระแสเลือด อาจไปบาดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของหัวใจและปอด เกิดเป็นแผล และเมื่อมีเชื้อโรคไปจับที่แผลก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เพราะเชื้อโรคบางอย่างความสามารถสูง สามารถเจาะผ่านเยื่อบุลำไส้เข้าไปในกระแสเลือดได้