โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการเริ่มแรกที่พบหลังจากที่ได้รับเชื้อจากยุงลายประมาณ 5-8 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ และมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน
โรคไข้เลือดออก มีอาการสำคัญที่ต้องสังเกต ดังนี้
• มีไข้สูงลอย 2-7 วัน
• มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณผิวหนัง
• มีตับโต กดเจ็บ และมักจะคลำได้ในวันที่ 3-4 นับจากเริ่มป่วย
• มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก
โรคไข้เลือดออก แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะไข้สูง
- มีไข้สูง ประมาณ 2-7 วัน ถึงจะกินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ยังไม่ลด ความสูงของไข้ในผู้ติดเชื้อแต่ละรายจะไม่เท่ากัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็ดตัว หรือให้กินยาลดไข้ (พาราเซตามอลเท่านั้น) ระวังอย่าให้มากเกินความจำเป็น เพราะอาจจะทำให้ ตับต้องทำงานหนัก อาจทำให้มีภาวะตับวาย หรือตับอักเสบรุนแรงได้
- ใบหน้าและตามลำตัว มีอาการแดงผิดปกติ บางรายอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วย หรือมีผื่นขึ้น
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- อาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เช่น มีจุด หรือมีเลือดกำเดาออก
ระยะนี้ถือเป็นระยะสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการดูแลสุขภาพลูกอย่างใกล้ชิด หรือรีบพาลูกพบแพทย์ทันทีค่ะ
2. ระยะวิกฤติ/ช็อก
อาการที่ต้องเฝ้าระวังนั่น คือ ระหว่างที่มีไข้ ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ที่มีความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน ในตอนนี้ อาจมีการรั่วของพลาสมา (plasma) หรือน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด และหากการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก จะทำให้คนไข้เกิดภาวะช็อกได้ ภาวะช็อกนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีผู้ป่วยจะมีอาการเพิ่มขึ้น และอาจเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังภาวะช็อกได้
3. ระยะฟื้นตัว
ลักษณะของอาการโดยทั่วไปดีขึ้น หลังจากที่มีการดูดกลับของพลาสมาเข้าสู่กระแสเลือด ชีพจรเต้นช้าลงจากช่วงระยะวิกฤตที่มักจะเต้นเร็วกว่าปกติ สามารถรับประทานอาหารได้ ในบางรายจะพบผื่นขึ้นตามร่างกาย เรียกว่าผื่นในระยะพักฟื้น และปัสสาวะได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับระยะวิกฤติ คุณหมอจะหยุดการให้สารน้ำทางเส้นเลือด เพื่อป้องกันการแทรกซ้อนจากภาวะน้ำเกินได้
การป้องกัน
- ดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดจากยุงลาย ตวรจสอบบริเวณที่เป็นน้ำขัง และควรกำจัดแหล่งน้ำขังนี้ให้หมด
- ยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน จึงไม่ควรประมาท ด้วยการปิดประตู หรือมุ้งลวดให้เรียบร้อยทุกครั้ง
- หมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย หากลูกมีอาการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ทันทีค่ะ
การดูแลรักษาเบื้องต้น
1. เช็ดตัวลดไข้ โดยใช้น้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ระหว่างเช็ดตัวหากมีอาการหนาวสั่นก็หยุดและห่มผ้าบางๆ ในเด็กเล็กเมื่อไข้สูงมากอาจจะเกิดอาการชักได้ โดยเฉพาะคนที่เคยมีประวัติชักตั้งแต่เด็ก
2. ให้รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ได้
3. ห้ามกินยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มลดไข้สูง เพราะยาในกลุ่มนี้มีผลทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เพราะมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดซึ่งเป็นกลไกสำคัญเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย ในบางรายอาจทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง หรือทำงานผิดปกติ เลือดจะออกไม่หยุด และเสียชีวิตได้
4. ทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม นม น้ำหวาน น้ำผลไม้ เป็นต้น
5. ให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ถ้าลูกของคุณยังวิ่งเล่นได้ และทานอาหารได้เป็นปกติ คุณก็สามารถปฐมพยาบาลที่บ้านได้ แต่หากอาการเป็นตรงกันข้าม รวมถึงมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ