แสงและเสียงซ่า เสาไฟฟ้าแรงสูง เป็นอันตรายหรือไม่?

กฟผ. แจง แสงและเสียงซ่าบริเวณลูกถ้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเป็นปรากฏการณ์ "โคโรน่า" ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย ปรากฏการณ์โคโรน่า (Corona) ที่เกิดถี่ขึ้นบริเวณแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงช่วงนี้ว่า เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อน แห้งแล้ง และฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ทำให้บริเวณผิวลูกถ้วยสกปรก สภาพความเป็นฉนวนลดลง เป็นผลให้อากาศบริเวณโดยรอบเกิดการแตกตัวออกมาในรูปของเสียงและแสง ปรากฏการณ์โคโรน่าที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในการส่งจ่ายระบบไฟฟ้าแรงสูง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแต่อย่างใด เพียงก่อให้เกิดความรำคาญจากเสียงและแสงที่เกิดขึ้นบ้างเท่านั้น

รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. มีมาตรการควบคุมความเป็นฉนวนของลูกถ้วย โดยเฝ้าระวังในพื้นที่ ที่มีฝุ่นละอองมาก ไอน้ำในอากาศจากพื้นที่เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และในพื้นที่ถมดินเพื่อการขยายตัวของชุมชน หากตรวจพบค่าความสกปรกของลูกถ้วยสูงกว่ามาตรฐาน กฟผ. จะทำความสะอาดชุดลูกถ้วย หรือปรับเปลี่ยนการออกแบบโดยใช้ลูกถ้วยชนิดพิเศษที่สามารถทนทานต่อค่าความสกปรกได้มากขึ้น โดย กฟผ. มีการสุ่มตรวจสภาพสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในช่วงฤดูแล้งปีนี้ กฟผ. ได้เฝ้าติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมวางแผนดำเนินการดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยการทำความสะอาดชุดลูกถ้วยในระบบส่งจ่ายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโปรดแจ้งที่ ศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร.1416 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่ กฟผ. จะได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและดูแลสายส่งไฟฟ้าแรงสูงต่อไป


แสงและเสียงซ่า เสาไฟฟ้าแรงสูง เป็นอันตรายหรือไม่?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์