สำนักข่าว'บีบีซี'ได้รายงานผลการสำรวจร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และสถาบัน Guttmacher ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ศึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวในสหรัฐฯ พบว่า ในระหว่างปี 2010-2014 มีกรณีการทำแท้งโดยเฉลี่ยถึง 56 ล้านครั้งต่อปีทั่วโลก หรือคิดเป็นทุก 1 ใน 4 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงการสำรวจเมื่อปี 1990-1994 เป็นอย่างมากซึ่งมีการทำแท้งโดยเฉลี่ย 50 ล้านครั้งต่อปี
ผลการสำรวจดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ยังระบุว่า ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพบว่ามีอัตราการทำแท้งมีแนวโน้มลดลงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับมีอัตราการทำแท้งทำแท้งที่สูงขึ้น สันนิษฐานว่ามาจากจำนวนประชากรใหม่ที่เพิ่มขึ้น แต่มีความต้องการขนาดครอบครัวที่เล็กลง โดยกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาถือเป็นจุดที่น่าจับตามองเนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการทำแท้งสูงกว่าที่อื่นๆ บนโลก
ผลการสำรวจยังพบว่า การกำหนดให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ส่งผลช่วยลดอัตราการทำแท้งในแต่ละประเทศลงแต่อย่างใด ซ้ำยังจะทำให้มีผู้เลือกเข้าใช้บริการทำแท้งเถื่อนซึ่งไม่ปลอดภัย
ดร.'เบลา เจนาตรา'จากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงให้สตรีเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดที่หลากหลายมากขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าจะปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ทั้งที่ไม่ต้องการ และไปเผชิญทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงจำนวนมากหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดเนื่องจากกังวลกับผลข้างเคียงของยา รู้สึกเป็นตราบาป และคิดเข้าข้างว่าตัวเองมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำ
ที่มา BBC ,posttoday.com