ช็อกโกแลตซีสต์ คืออะไร
ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือ ถุงน้ำช็อกโกแลต เป็นชื่อเรียกของอาการ "เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่" ซึ่งเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้องผ่านท่อรังไข่ และนำเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปด้วย เมื่อเซลล์นี้ไปฝังตัวอยู่ที่อวัยวะไหนก็จะเกิดถุงน้ำขึ้นที่อวัยวะนั้น สามารถเกิดได้ทั้งในอุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ ช่องคลอด และมดลูก บริเวณที่พบ ‘ช็อกโกแล็ตซีสต์' ได้บ่อยที่สุด ก็คือ "รังไข่" เนื่องจากมีตัวเร่งเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างไรก็ตาม ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก มันจะไม่กลายเป็นซีสต์ แต่จะกลายเป็นพังผืดหรือก้อนในกล้ามเนื้อมดลูกแทน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ประจำเดือนมามาก และมีบุตรยาก เมื่อเวลาที่ผู้หญิงมีประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวออกมา ถุงน้ำที่ฝังตัวอยู่ก็จะมีเลือดออกด้วย แต่เมื่อเลือดประจำเดือนออกหมดแล้วในเดือนนั้น ร่างกายก็จะดูดน้ำจากถุงกลับมา ทำให้เลือดในถุงเข้มข้นขึ้น หากเลือดค้างอยู่นาน ๆ ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า "ถุงน้ำช็อกโกแลต" หรือ "ช็อกโกแลตซีสต์" นั่นเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่ามี ‘ช็อกโกแลตซีสต์'
การจะรับรู้ความผิดปกติของตัวเองจะต้องอาศัยการสังเกต โดยคนที่เป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์จะมีอาการดังต่อไปนี้
1. ปวดท้องน้อยเรื้อรังเมื่อมีประจำเดือน และจะปวดมากขึ้นทุก ๆ เดือน โดยจะปวดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกราน และตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ ซึ่งอาจปวดรุนแรงจนถึงขั้นเป็นลมได้
2. อาการอื่นๆ ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดมากเวลาขับถ่าย ปวดเสียดในท้อง ปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ผู้ป่วยที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์จะมีบุตรยาก เนื่องจากท่อนำไข่ตีบตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ดังนั้น หากต้องการจะมีบุตรควรจะต้องปรักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์ให้หายเสียก่อน
กลุ่มเสี่ยงคือใคร
ผู้ที่สามารถเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้ คือ ผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์มากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
1. ประจำเดือนมาตั้งแต่อายุยังน้อย
2. มีประจำเดือนแต่ละรอบสั้น หมายความว่า ในหนึ่งเดือนอาจมีประจำเดือนมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง
3. มีประจำเดือนออกมามาก หรือนานกว่า 7 วัน
4. กรรพันธุ์ ลองสอบถามประวัติของคนในครอบครัวคุณดู เพราะหากมีสมาชิกในครอบครัวคนใดที่มีประวัติเป็นโรคนี้ บุคคลคนนั้นจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 3-10 เท่า
5. ผู้ที่มีความผิดปกติของทางออกประจำเดือน เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเยื่อพรหมจารีเปิด