"ไม่ช่วยทั้งๆที่ตัวเองช่วยได้ แต่เจตนายังจะถ่ายคลิป อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเว้น ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีผู้ประสบอันตรายถึงระดับชีวิต อย่างคนจมน้ำ อย่างน้อยผู้เห็นเหตุการณ์แม้จะรู้ตัวว่าว่ายน้ำไม่เป็น แต่ควรตะโกนร้องเรียก หรือวิ่งไปตามคนที่อยู่แถวนั้นให้มาช่วยเหลือ กฎหมายมีจุดประสงค์เพื่อให้มนุษย์ไม่นิ่งดูดาย อย่าละเลยในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แน่นอนว่าการกระทำตามมาตรา 374 ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย แต่ว่าด้วยจิตสำนึกที่ดีของวิญญูชน รวมถึงความมีน้ำใจและการมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนร่วมโลก" ทนายความ กล่าว
ทนายความ ยังอธิบายต่ออีกว่า ถึงแม้ในภายหลังเขาจะรอดหรือไม่รอดชีวิตไม่สำคัญ แต่ในฐานะที่จะช่วยได้แล้วไม่ช่วย ผิดเต็มๆ แต่หากกรณีที่การช่วยเหลือ ต้องแลกชีวิตผู้ช่วยเหลือ ถึงแม้ไม่ช่วยก็ไม่ผิด ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูที่สามัญสำนึกรายละเอียดเป็นกรณีๆไปว่าพยายามอย่างวิญญูชนทั่วๆไปหรือไม่ แต่สำหรับกรณีถ่ายคลิปเพื่อปกป้องตัวเอง หรือเป็นพยานหลักฐานต่างๆ ถ้าไม่ได้ไปละเมิดสิทธิใคร ในทางกฎหมายสามารถทำได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะผิดตามมาตราดังกล่าว แต่หากเจอเหตุการณ์ตามมาตรา 374 ป.อาญา และยังมัวถ่ายคลิปอยู่โดยไม่ช่วยผู้ประสบภัย จะผิดเต็มๆ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าว กำหนดไว้เพื่อปราบคนแล้งน้ำใจ
"สิ่งที่สังคมต้องช่วยดำเนินการในตอนนี้เป็นอันดับแรก ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ตามสภาพสังคมและการเวลา แต่ต้องพัฒนาตัวบุคลในสังคม พัฒนาตัวผู้ใช้กฎหมายให้มีความรู้และศีลธรรมควบคู่กันไป กฎหมายนั้นออกโดยคนในสังคมและผู้ใช้ก็คือคนในสังคม ดังนั้นถ้าคนในสังคมมีคุณภาพแล้ว กฎหมายและการใช้บังคับก็จะดีตามไปด้วยนั่นเอง และนี่ก็คือการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นที่ต้นเหตุโดยแท้จริง" ทนายความ ระบุ.