คดีหญิงไก่ คดีตัวอย่าง ถอดบทเรียนเมื่อลูกจ้างถูกกลั่นแกล้ง?

กรณี นางมณตา หยกรัตนกาญ หรือหญิงไก่ แจ้งความดำเนินคดีฐานลักทรัพย์กับลูกจ้าง กลายเป็นข่าวโด่งดังกระหึ่มทั่วสังคมต่อเนื่องหลายสัปดาห์จนลุกลามบานปลายอย่างที่เห็น 
คดีดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบ ดูหมิ่นข่มเหงแล้วยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ชีวิตความเป็นอยู่เเละชะตากรรมของลูกจ้างทำงานบ้านช่างน่าเป็นห่วงเสียเหลือเกิน 

"พวกคนใช้ต้อยต่ำ-พูดมาก-ขี้นินทา"ทัศนคติที่มีต่อลูกจ้างทำงานบ้าน

แต่ไหนแต่ไรมา อาชีพ "ลูกจ้างทำงานบ้าน" มักถูกมองด้วยสายตาดูแคลน ถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้างอยู่เป็นประจำ ภายใต้ทัศนคติที่ว่า “ฉันเป็นนาย เธอเป็นบ่าว”

อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า ทัศนคติที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างหรือคนรับใช้ในเมืองไทยนั้นต้อยต่ำ มองคนไม่เท่ากัน สวนทางกับข้อกฎหมายและคำปฏิญญาสากลมุ่งปกป้องและประกันสิทธิในการปฎิบัติที่เสมอภาคต่อกัน มนุษย์ต้องได้รับความเป็นธรรม เเละสามารถอ้างสิทธิของตนเองได้

“ไม่ว่าจะในละครหรือนิยาย ต่างพากันนำเสนอบทบาทของคนรับใช้หรือลูกจ้างทำงานบ้านว่าเป็นพวกพูดมาก ขี้นินทา ไร้ความสามารถ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป”

นักสิทธิสตรีรายนี้ชี้ว่า ที่ผ่านมามักไม่ค่อยพบเห็นการเรียกร้องความเป็นธรรมจากแรงงานลูกจ้างทำงานบ้าน เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย มีภาระหนี้สิน หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน ทำให้ต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงาน แม้จะไม่ได้รับความยุติธรรมก็ตาม เมื่อบวกกับทัศนคติที่ว่าพวกเขาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ยิ่งทำให้เสียงของคนเหล่านี้ไม่ดัง หากเป็นแรงงานข้ามชาติด้วยแล้ว ไม่ต้องคิดเลยว่าจะเบาบางเพียงใด 

อังคณา บอกต่อว่า เมื่อแต่ละคนมีต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้อำนาจการต่อรองแตกต่างกันไป จำเป็นต้องทำให้ความรู้สึกและสายตาที่มองไปยัง “คนทำงานบ้าน” เปลี่ยนแปลง มองให้เห็นว่างานบ้านเป็นอาชีพหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนแรงงานอื่นๆ 

“เคยมีแม่บ้านท่านหนึ่ง เดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ หลังถูกนายจ้างข่มขืน คำแรกที่ตำรวจถามก็คือ คุณมีใบอนุญาตเข้าเมืองหรือเปล่า พอบอกไม่มี ตำรวจส่งเธอไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนถูกส่งกลับประเทศ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เรามีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการข่มขืนอยู่ เห็นได้ชัดว่าเรื่องทัศนคติหรืออคติของสังคมสำคัญมาก ได้โปรดอย่ามองว่าลูกจ้างเป็นทาส และกีดกันคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากความยุติธรรม งานที่เขาทำค้ำจุนสังคมมาเนิ่นนาน” 


คดีหญิงไก่ คดีตัวอย่าง ถอดบทเรียนเมื่อลูกจ้างถูกกลั่นแกล้ง?

"ทะเลาะกับนายจ้าง"ไม่ตกงานก็ติดคุก?

ปัจจุบันเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ประกอบด้วยลูกจ้างทำงานบ้านทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านแรงงานของลูกจ้างทำงานบ้านโดยไม่แบ่งแยกเพศและเชื้อชาติ มีสมาชิกรวมกันประมาณ 600 คน 

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เล่าว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่าต่องานบ้านและลูกจ้างทำงานบ้านเช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ  ถึงแม้ว่ากระทรวงแรงงาน จะได้ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่ก็แทบจะไม่มีลูกจ้างทำงานบ้านคนใดออกมาเรียกร้องความคุ้มครองทางกฎหมาย เนื่องเพราะพวกเขาไม่รู้สิทธิของตนและกลัวการตกงาน ซึ่งหมายถึงการสูญเสียรายได้ของครอบครัว 

ทั้งนี้ โดยทั่วไปลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้หญิงที่มีภาระต้องรับผิดชอบดูแลพ่อแม่ญาติพี่น้อง รวมทั้งลูกเล็กๆ อีกทั้งมักจะกังวลว่าในกรณีที่เกิดคดีความกับนายจ้างว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรมจากการพิจารณาคดี เพราะผู้รักษากฎหมายมักจะมีอคติทางสังคมที่เอนเอียงไปรับฟังและเชื่อข้อมูลที่ได้จากนายจ้างซึ่งมีสถานะทางสังคมและอำนาจเหนือกว่า ท้ายที่สุดจะสรุปรวบรัดว่าลูกจ้างเป็นผู้กระทำผิด ส่งผลให้ลูกจ้างทำงานบ้านจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับความยุติธรรม ต้องตกเป็นจำเลยในที่สุด  

“หลายคนไม่มีวันหยุด พอจะหยุดก็โดนหักเงิน เมื่อลูกจ้างไม่อยากจะทำงานกับนายจ้าง แจ้งว่าจะขอลาออก นายจ้างมักจะไม่อนุญาต และข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับลูกจ้างที่ขโมยสิ่งของมีค่าต่างๆ ไป ลูกจ้างหลายรายไม่รู้กฎหมาย ประกอบกับกลัวคำข่มขู่ของนายจ้าง ก็จำต้องยอมทำงานต่อเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแจ้งความดำเนินคดี บางรายต้องยอมจ่ายเงินชดใช้ให้กับนายจ้าง บางรายต้องหนีคดี และบางรายถึงกับถูกตัดสินจำคุก”  คำบอกเล่าของ สมร  พาสมบูรณ์  ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย

สมรแสดงความหวังว่า คดีหญิงไก่จะสะเทือนสังคมให้รับรู้เรื่องสิทธิและหันกลับมาฟังเสียงของลูกจ้างทำงานทุกคน หลังจากที่ผ่านมาไม่เคยไม่มีใครได้ยินแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ความต้องการของเราก็คือ มองเห็นว่าเรามีศักดิ์ศรีและให้โอกาสเราได้ทำงานที่มีสวัสดิการซึ่งควรจะได้รับ และหากถูกละเมิดสิทธิหรือข่มเหง อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดโอกาสให้เราได้ระบาย ไม่ใช่ไปถึงโรงพักแล้วข่มขู่ทันที หลายคนไปแจ้งความ เจอพูดข่มขู่ ชี้นิ้วใส่ มาทำไม มั่วหรือเปล่า พวกเราก็กลัวกันขี้หดตดหาย ไม่กล้าพูดต่อแล้ว จากนี้ขอโอกาสได้พูด ไม่ใช่ข่มให้เรารับสารภาพหรือเป็นฝ่ายยอมอย่างเดียวทั้งที่ไม่มีความผิด” 

นอกจากนั้น สมร ยังเสนอด้วยว่า อยากให้มีการจัดทำทะเบียนแรงงานแม่บ้าน ขึ้นมาอย่างชัดเจน เพราะเห็นว่าจะทำให้อาชีพเเม่บ้านมีความเเข็งเเรงในการเรียกร้องสิทธิเเละได้รับสวัสดิการตามกฎหมาย รวมทั้งจะช่วยลดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ 


คดีหญิงไก่ คดีตัวอย่าง ถอดบทเรียนเมื่อลูกจ้างถูกกลั่นแกล้ง?

ตำรวจที่ดีต้องเชื่อพยานหลักฐาน ไม่ใช่เกรงใจคน

สืบเนื่องจากคดีหญิงไก่ นอกจากจะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายรายร่วมกระทำความผิดด้วย โดยตำรวจนายหนึ่งให้การรับสารภาพว่า เกรงกลัวบารมีของหญิงไก่ 

พ.ต.อ.จารุภัชร ทองโกมล ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ เปิดเผยว่า วิธีการสอบสวนคดีความของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำอย่างเท่าเทียมไม่ว่าใครหน้าไหน สิ่งสำคัญอยู่ที่ต้นทางกระบวนการยุติธรรม นั่นคือ การลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุเพื่อค้นความจริง

“ก่อนจะเป็นคดีความเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ต้องถามว่า นายจ้างมีทรัพย์จริงหรือเปล่า พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองก่อน ได้มาอย่างไร ไม่ใช่รับเเจ้งส่งเดช จากนั้นต้องลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุว่าน่าเชื่อหรือไม่ที่จะมีเหตุเกิดขึ้นจริง พยานเอกสาร วัตถุ ลายนิ้วมือ ตำเเหน่งทรัพย์ สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายพูด ฟังเเล้วมันมีน้ำหนักสอดคล้องกับสิงที่เห็นหรือไม่ เหตุการณ์ลักทรัพย์ไม่ใช่คดีซึ่งหน้า ต้องสอบสวน หากดูไม่ละเอียดก็อาจเคลิ้มได้กับคำบอกเล่าของนายจ้าง กฎหมายค่อนข้างครอบคลุมและมีความยุติธรรม เแต่ก็ต้องยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่บางรายยังมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอยู่” 

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้เล่าข้อเท็จจริงอีกมุมให้ฟังด้วยว่า เหตุการณ์ลูกจ้างลักทรัพย์นายจ้างนั้นมีจริง แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงสิ่งของมีค่าเล็กๆน้อยๆ ทว่าเมื่อนายจ้างจับได้กลับใส่ความว่าเป็นสิ่งของมูลค่าราคาแพง หรือบางกรณีนายจ้างซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ให้กับลูกจ้าง แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องถูกหักเงินทุกเดือน วันหนึ่งหากลูกจ้างอยากลาออก หรือไม่ผ่อนต่อ ก็จะถูกข่มขู่ หรือแจ้งความจับก็มีให้เห็น


คดีหญิงไก่ คดีตัวอย่าง ถอดบทเรียนเมื่อลูกจ้างถูกกลั่นแกล้ง?

รู้กฎหมายเพื่อปกป้องตัวเอง

บทเรียนที่ได้จากคดีหญิงไก่อีกประการหนึ่งก็คือ กระบวนการหากินกับความไม่รู้เเละการกดขี่ข่มเหงลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาพัวพันยังสามารถพบเห็นได้ในสังคมไทย 

รศ.ดร.มาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เเละประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเเรงงานเเละอาชีพ กล่าวว่า "ลักทรัพย์" เป็นคดีอาญายอดฮิตที่นายจ้างใช้กับลูกจ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย อย่าให้ตัวเองเป็นเครื่องมือหรือว่าสมขบเพื่อผลประโยชน์ 

“คำถามวันนี้ก็คือ กฎหมายพยายามปกป้องคุ้มครองทุกคน เเต่ผบังคับใช้กฎหมายนั้นทำอย่างถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ นี่เป็นภาระหน้าที่ของตำรวจ ต้องทำความเข้าใจเเละกำชับกันในการทำงาน ทุกวันนี้ตำรวจไม่ใช่ว่าจะดีทุกคน หลายคนเข้ามาเพื่อเเสวงหาผลประโยชน์ หากผู้ที่อยู่ในสถานะที่มีอำนาจทางกฎหมายทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียเอง ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฝั่งลูกจ้างเองก็จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หากไม่รู้กฎหมายเท่ากับขาข้างหนึ่งอยู่ในตารางเเล้ว ผลักดันพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ยินยอมจากการข่มเหงรังแก” 

รศ.ดร.มาลี มองว่า บทบาทของรัฐที่จริงจังมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิ เพื่อนำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยเฉพาะกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน โจทย์สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้เกิดผลในทางปฎิบัติ

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่คนรับ ใช้ตามบ้านซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทรับเหมาทำความสะอาด โดยจะได้รับความคุ้มครอง 7 ข้อ

1.ลูกจ้างต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 

2.นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดตามประเพณีปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน ซึ่งรวมถึงวันแรงงานแห่งชาติด้วย และหากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้ลูกจ้างหยุดเป็นวัน หยุดชดเชยเพิ่มอีก 1 วัน 

3.ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปิ ปีละไม่เกิน 6 วันทำงาน

4.ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยตามที่ป่วยจริงได้และหากลา 3 วันขึ้นไป นายจ้างสามารถขอใบรับรองยืนยันจ้างลูกจ้างได้ 

5.กรณีลูกจ้างเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่เด็กโดยตรง 

6. ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดต้องได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดด้วย

7.ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยโดยไม่เกิน 30 วันทำงาน

ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 
ขณะที่ มโนชญ์ แสงแก้ว ผู้อำนวยการกองสวัสดิการแรงงาน แนะนำว่า 1.ลูกจ้างควรเรียนรู้สิทธิที่ตัวเองพึงมี และรักษาเอาไว้  2.พยายามรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย หากเกิดปัญหาจะทำให้การออกมาเรียกร้องนั้นเกิดเป็นพลัง 3.บทลงโทษทางสังคมเป็นสิ่งที่ทุกคนควรช่วยกัน เช่น การโจมตีและต่อต้านสินค้าต่างๆที่เอาเปรียบผู้บริโภค บทลงโทษทางสังคมสำคัญมากในการเรียกร้องสิทธิ

บทสรุปของคดีนี้ที่ทุกคนต้องตระหนักไว้ก็คือ ต้องสร้างความรับรู้เรื่องกฎหมายให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน ขณะที่นายจ้างเองก็หัดทำตามกฎหมายและมองคนให้เป็นคนเสียที 

ที่มา www.posttoday.com


คดีหญิงไก่ คดีตัวอย่าง ถอดบทเรียนเมื่อลูกจ้างถูกกลั่นแกล้ง?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์