ดื่มน้ำองุ่นหรือไวน์อาจช่วยเผาผลาญไขมัน
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท สหรัฐอเมริกา เผยว่า การดื่มน้ำองุ่นหรือไวน์ในปริมาณที่เหมาะสมอาจทำให้สุขภาพของคนที่มีน้ำหนักเกินดีขึ้น โดยจะช่วยทำให้การเผาผลาญไขมันดีขึ้น
การค้นพบดังกล่าวเป็นการบอกว่า การดื่มน้ำองุ่นเข้มๆ หรือไวน์นั้น อาจจะช่วยพัฒนาสุขภาพของคนที่เป็นโรคอ้วนหรือคนที่มีกระบวนการเมตาบอลิซึมไม่ดี อย่างเช่นตับทำงานบกพร่องได้
นีล เชย์ นักชีวเคมีและนักชีววิทยาโมเลกุล ที่คณะวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท หนึ่งในนักวิจัยครั้งนี้ได้ทำการทดลองเลี้ยงเนื้อเยื่อตับของมนุษย์และเซลล์ไขมัน เพื่อนำมาผสมเข้ากับสารเคมีที่แยกออกมาจากองุ่นมันคาดีน ที่เป็นองุ่นท้องถิ่นแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา
สารเคมีตัวหนึ่งในนั้นคือ กรดเอลลาจิก (ellagic acid) ถือว่ามีศักยภาพสูงทีเดียว เพราะทำให้เซลล์ไขมันมีการเติบโตที่ช้าลง และช่วยชะลอการก่อตัวเป็นเซลล์ใหม่ได้อีกด้วย ทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึมในเซลล์ตับเพื่อย่อยสลายกรดไขมันนั้นทำงานได้ดีขึ้น
เชย์เผยว่า สารนี้ไม่ได้ช่วยในการลดน้ำหนักแต่อย่างใด แต่จะช่วยให้การเผาผลาญกรดไขมันโดยเฉพาะที่ตับดีขึ้น อีกทั้งช่วยทำให้การทำงานของตับในคนที่เป็นโรคน้ำหนักเกินนั้นดีขึ้นด้วย
"เราไม่ได้ค้นพบและคาดหวังว่าสารเหล่านี้จะทำให้น้ำหนักของร่างกายดีขึ้นได้"
"แต่ถ้าเราพัฒนาวิธีการควบคุมอาหารไม่ใช้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับจนเป็นอันตรายได้ การใช้พืชที่หาง่ายๆอย่างองุ่นก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ถือว่าเป็นข่าวดีทีเดียว"
ในการศึกษาครั้งนี้ เชย์ได้ร่วมมือกับทีมงานจากทางมหาวิทยาลัยฟลอริดาและมหาวิทยาลัยเนเบรสกา ทำการทดลองกับหนูที่ห้องปฏิบัติการวิจัยที่โอเรกอน โดยในปี 2013 นั้น เชย์และนักศึกษาของเขาได้ให้อาหารที่ผสมสารสกัดจากองุ่น Pinot noir ที่เก็บมาจากไร่องุ่นแถบคอร์วาลลิส มลรัฐโอเรกอน
หนูบางตัวได้รับอาหารก้อนสำหรับหนูที่มีไขมันปกติคือ 10 เปอร์เซนต์ ส่วนหนูที่เหลือจะมีไขมันอยู่ในอาหารก้อน 60 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เทียบเท่ากับระดับที่ทำให้มนุษย์น้ำหนักเกินไปหลายปอนด์
"หนูของเราชอบกินอาหารที่มีไขมันสูงและก็กินเข้าไปเยอะเลย ดังนั้น มันจึงเปรียบเสมือนคนที่ไม่ขับขยับตัวไปไหนและกินแต่ขนมตลอดเวลา ไม่ออกกำลังกายให้เพียงพอ"
ส่วนผสมของสารสกัดจากองุ่นนั้น นักวิจัยปรับลดให้เหลือในระดับที่หนูต้องการ ซึ่งก็เทียบเท่ากับการดื่มน้ำองุ่นครึ่งแก้วต่อวันสำหรับคน
"สัดส่วนนี้ถือว่าสมเหตุสมผลนะ ซึ่งจะทำให้เราใช้ผลเหล่านี้กับการกินอาหารของมนุษย์ได้"
เมื่อทดลองเลี้ยงหนูไปสิบวัน หนูกลุ่มที่กินอาหารที่มีไขมันเยอะจะมีไขมันในตับมากขึ้นและเป็นโรคเกี่ยวกับความอ้วน นักวิจัยชี้ว่า "ผลที่ตามมาคือกระบวนการเมตาบอลิซึมแบบเดียวกันกับคนที่เป็นโรคน้ำหนักเกินและไม่ขยับตัวไปไหน"
แต่เมื่อหนูอ้วนหลายตัวที่ได้รับสารจากองุ่นด้วยนั้น กลับมีไขมันสะสมในตับน้อยกว่าปกติ แถมยังมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าหนูที่กินแต่อาหารอ้วนอย่างเดียว ดังนั้น กรดเอลลาจิก จึงน่าจะเป็นกลไกสำคัญในการทดลองนี้ ทำให้หนูที่กินไขมันเข้าไปเยอะมีน้ำตาลในเลือดต่ำจนเกือบเท่ากับหนูปกติ
เมื่อเชย์และทีมงานได้วิเคราะห์เนื้อเยื่อของหนูอ้วนที่กินสารสกัดเสริมเข้าไป ก็ได้พบว่าโปรตีน PPAR-alpha และ PPAR-gamma มีกิจกรรมที่มากขึ้น ซึ่งโปรตีนสองตัวนี้จะทำงานเพื่อการย่อยสลายไขมันและน้ำตาล
เชย์จึงตั้งสมมติฐานว่า กรดเอลลาจิกและสารเคมีอื่นๆ จะเข้าไปจับกับตัวรับของโปรตีน PPAR-alpha และ PPAR-gamma จนทำให้ยีนบางตัวทำงาน ซึ่งยีนนี้จะไปเริ่มต้นกระบวนการย่อยสลายไขมันและน้ำตาลต่อไป หลักการนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและไตรกลีเซอไรด์นั่นเอง
เป้าหมายของทีมวิจัยไม่ได้ต้องการให้มีการเปลี่ยนยารักษาโรค แต่อยากจะให้คนปกติเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เลือกอาหารที่พบได้ง่าย ก็จะช่วยทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึมทำงานได้ดีขึ้นได้
"เราพยายามจะยืนยันว่าอาหารบางอย่างนั้นดีต่อสุขภาพจริง ถ้าเราไปเลือกซื้ออาหารและรู้ว่าผลไม้บางอย่างมันดีต่อสุขภาพ ทำไมจะไม่ซื้อล่ะ จริงมั้ย" เชย์ทิ้งท้าย
ที่มา : vcharkarn.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!