คำสดุดีจากวรรคหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไว้อาลัยในวันพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต : ราชสกุลเดิม รัชนี)
หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จเยือนราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ ในยุคที่สถานการณ์การเมืองล่อแหลม จนสิ้นชีพิตักษัยขณะประกอบพระกรณียกิจแทนพระองค์จากการระดมยิงของ "ผู้ก่อการร้าย" ขณะช่วยเหลือทหารบกที่บาดเจ็บ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี (วสิษฐ เดชกุญชร 2544: 88-89)
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2520 นอกจากนี้ หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ยังมีบทบาทในฐานะของนักเขียนที่เผยแพร่พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระบรมราชวงศ์ผ่านในนามปากกา "ว.ณ ประมวญมารค"
ในงานเขียนของ วสิษฐ เดชกุญชร เรื่อง ‘ตามรอยพระยุคลบาท : บันทึกความทรงจำของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร' ยังบรรยายถึงรูปแบบการเสด็จแทนพระองค์ของหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ทรงโปรดการเสด็จแบบถึงลูกถึงคน หากไม่จำเป็นจะไม่ประทับเฮลิคอปเตอร์ แต่จะเสด็จโดยทางพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ สำหรับในการเสด็จเยือนภาคใต้นั้น จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยรถไฟ เมื่อถึงอำเภอแล้วจึงเปลี่ยนเป็นรถยนต์ หากไม่มีรถยนต์ก็จะใช้จักรยานหรือเดินเท้า เมื่อท่านหญิงฯ เสด็จถึงก็ทรงเยี่ยมและประทานของเหล่านั้นแก่ผู้ยากจนและแก่นักเรียน ผู้เสด็จตาม ประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อนามัยท้องถิ่น
ในบันทึกดังกล่าวของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ยังอธิบายอีกว่า ในการเสด็จของท่านหญิงฯ ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ และเสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สถานที่ไปก็ค่อนข้างอันตรายและเป็นถิ่นทุรกันดาร โดยหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต สิ้นชีพิตักษัยขณะประกอบพระกรณียกิจแทนพระองค์ ในการนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมตำรวจและทหารที่ อ.เวียงสระ ตามปกติ จากการระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ขณะร่อนลงไปช่วยตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกับผู้ก่อการร้ายในปี พ.ศ. 2520 ที่บ้านเหนือคลอง อ.บ้านส้อง จ.สุราษฎร์ธานี
หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเวลานั้นพาดหัวข่าวใหญ่ อาทิ "ผกค.ฆ่าหม่อมเจ้าวิภาวี สิ้นชีพบน ฮ. สั่งกราบทูล ขอลาตาย" จนเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำงานพระราชกรณียกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย ยากลำบาก โดยเฉพาะกับการเผชิญแหล่งกบดานของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ในฐานะผู้ปฏิบัติการแทนพระองค์ การสิ้นชีพของพระราชวงศ์ในขณะที่ทำหน้าที่แทนพระองค์ จึงยิ่งทำให้การดำเนินพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไม่ทรงห่วงพระองค์เองของ รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงการทำงานของหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำงานที่ต้องสละชีวิตเพื่อราชพลีในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจจากพระมหากษัตริย์ รัฐบาล ตำรวจ ทหาร และผู้แทนพระองค์ ส่งผลต่อความรักของประชาชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมาก โดยประเทศไทยขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงของการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเพลิงศพและพระราชทานพวงมาลา มีคำสดุดีจากวรรคหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ "ความฝันอันสูงสุด" และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงคำไว้อาลัยข้อความเพิ่มเติมตอนหนึ่งว่า "อริราชพิฆาตท่านวางวาย แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวี" และยังทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ และปถมาภรณ์ช้างเผือก โดยสถาปนาพระยศเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองศ์เจ้าวิภาวดีรังสิต" เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2520