มร.อีโว ซีเบอร์ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์รู้สึกซาบซึ้งใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เคยเป็นดินแดนที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเคยประทับอยู่ ณ เมืองโลซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศนับ 17 ปี เรียกได้ว่าเป็นความผูกพันที่แนบแน่นหยั่งรากลึก
"สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทยอยู่ไม่น้อย การใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระราชวงศ์ไทยที่สวิตเซอร์แลนด์อย่างยากลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความเรียบง่าย ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้พระองค์มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม โดยเฉพาะความพอเพียงที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้นำไปใช้ต่อไป"
สำหรับสารคดีชุด "ตามรอยเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์" นี้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยว่า สารคดีชุดนี้จะถ่ายทอดเรื่องราวโดยการพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสสถานที่แห่งความทรงจำของราชสกุลมหิดล ผ่านการเรียงร้อยเรื่องราวอดีตกับปัจจุบัน เพื่อตอบคำถามของพสกนิกรที่ว่า คนสวิสมีภาพจำ "ยุวกษัตริย์" ไทยอย่างไร และสภาพแวดล้อมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษาขึ้นเป็นเช่นไร ซึ่งพระราชกรณียกิจต่างๆ นี่เอง ที่สะท้อนแรงบันดาลพระราชหฤทัยและแนวพระราชดำริให้ทรงนำมาพัฒนาเป็นโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย โดยสารคดีจะแบ่งออกเป็น 30 ตอน นำเสนอเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.45-09.00 น. เริ่มออกอากาศตั้งแต่ 14 พฤศจิกายน ถึง 23 ธันวาคม
นอกจากสารคดีชุด "ตามรอยเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์" แล้ว ในนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมได้ยากยังพาประชาชนร่วมเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระราชวงศ์ไทยผ่านภาพพระบรมฉายาลักษณ์หายาก อาทิ
"ชีวิตสามัญชน" กับพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจูงมือพระเจ้าแผ่นดินทั้ง 2 พระองค์ทรงพระดำเนินเล่นตลาดนัดสินค้าเกษตรริมถนน ใจกลางเมืองโลซาน โดยทรงคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่าย จึงโปรดการจ่ายตลาดและการปรุงเครื่องเสวยด้วยพระองค์เอง ถือเป็นการปลูกฝังพระราชจริยวัตรที่เรียบง่ายและพอเพียงให้กับเจ้านายทั้ง 3 พระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับรูปปั้นลิงสามตัวในท่าทางปิดหู ปิดปาก ปิดตา ในสวนสาธารณะพาร์ก ดู เดอ น็องตู ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงให้ความหมายถึง การไม่ฟัง ไม่ดู ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดีสมกับเป็น "ลิงนักปราชญ์"
หรือจะเป็นภาพครอบครัวมหิดลเสด็จฯเยือนโรงงานช็อกโกแลตเนสท์เล่ อันเป็นพระราชกรณียกิจอันน่าตื่นตาตื่นใจ ที่พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 16 เมษายน 2478 ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเล่าว่า "นันทกับเล็กสนุกกันมากเพราะมีเครื่องจักรมาก อะไรทุกอย่างก็มีเครื่องจักรทำ พอดูเสร็จ ลากลับ เขาก็ให้ช็อกโกแลตใส่หีบสวยคนละกล่อง"
ภาพ "ทรงปลูกผักรดน้ำ" ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงฝึกให้พระโอรสและพระธิดามีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่วัยพระเยาว์ อย่างการแบ่งกันดูแลแปลงดอกไม้ พืชสวนครัว เมื่อได้ผลผลิตจะนำออกไปขาย แจกจ่ายให้บ้านใกล้เรือนเคียง ถือเป็นการปลูกฝังให้เจ้านายน้อยทั้ง 3 พระองค์รู้จักคุณค่าของเงินและความพอเพียง
พระบรมฉายาลักษณ์ "ในหลวง ร.9 ทรงหัดเล่นสกี" อันเป็นกีฬาพื้นฐานของชาวสวิสทุกคน ที่ทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระปรีชาสามารถในการทรงสกีน้ำแข็งปรากฏในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ว่า "นันทกับเล็ก เล่นสกีหลายหน ทำเก่งกันทั้งคู่ เล็กยิ่งทำดีกว่า นันททำน่าเอ็นดู ใครๆ เห็นเข้าก็งงงวย เพราะเล็กนิดเดียวทำได้ดีมาก"
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงปั่นจักรยาน ซึ่งในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจโลกฝืดตัวไม่เว้นแม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ จึงทรงตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมค่าใช้จ่าย ทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชนด้วยการใช้จักรยานแทนรถยนต์เพื่อลดการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ในช่วงนั้นสวิตเซอร์แลนด์มีนโยบายวาเลนแพลน ให้ประชาชนปลูกพืชในทุกพื้นที่ที่เป็นดิน ผลิตอาหารเอง ลดการพึ่งพิงต่างชาติ เน้นความมั่นคงทางอาหาร แนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยต่อโครงการพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ เพื่อให้ประเทศสามารถยืนหยัดและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน