ประดักประเดิดมาก “ร. 5” ทรงเลี่ยงไม่เสด็จฯ ร่วมพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาของ “ม.เคมบริดจ์”

"...เมื่อถึงวันที่ ๑๒ มิถุนายน มีการจัดพิธีมอบปริญญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตามกำหนด แต่รัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เสด็จฯ ไปในพิธี รัชกาลที่ ๕ ทรงระบุถึงสาเหตุไว้ ๒ ประการ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขามีไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก่อนจะถึงวันพิธีว่า

‘วันที่ ๒๕ เปนวันจะได้รับดีกรีเคมบริช เรื่องรับดีกรีนี้ประดักประเดิดมาก เหตุด้วยเวลาไม่เหมาะตามโปรแกรม ทั้งรพีแลจรูญตักเตือนว่าการที่จะไปรับนั้นบางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก ไม่ไปเหนจะดีกว่า ฉันจึ่งได้กะเวลาคลาศเสีย'

‘รพี' คือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) เสด็จยุโรปล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับเสด็จ ส่วน ‘จรูญ' คือหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตประจำฝรั่งเศส (และประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี) กล่าวสั้นๆ สาเหตุที่ทำให้รัชกาลที่ ๕ ไม่เสด็จฯ ไปในพิธี ได้แก่ ประการแรก วันจัดพิธีของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่สอดคล้องกับหมายกำหนดการเสด็จฯ และประการที่ ๒ มีพระราชประสงค์ที่จะเลี่ยงเสด็จฯ ไปในพิธีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สาเหตุประการที่ ๒ คือที่มาของสาเหตุประการแรก นั่นคือคำคัดค้านของกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์และหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรที่ทรงเห็นคล้ายกันว่า ‘บางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมากไป ไม่ไปเหนจะดีกว่า'

‘สตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก' ซึ่งทรงยกขึ้นมาเป็นเหตุผลนั้น น่าจะหมายถึง การมีนักศึกษาโห่ร้องหรือหยอกล้อผู้ได้รับปริญญาหลังเสร็จพิธี ซึ่งมีขึ้นเป็นประเพณีของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว

สาเหตุที่รัชกาลที่ ๕ ทรงรับฟังและทรงเลี่ยงที่จะเสด็จอาจเป็นเพราะผู้ภราบบังคมทูลทัดทานทั้ง ๒ พระองค์เป็นผู้ใกล้ชิดและเคยศึกษาในมหาวิทยาลัยในอังกฤษมาก่อน กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใน พ.ศ. ๒๔๓๗ และหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใน พ.ศ. ๒๔๓๙

จากคำคัดค้านด้วยเกรงว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะแสดงกิริยาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงต้อง ‘กะเวลาคลาศเสีย' หรือวางหมายกำหนดการใหม่ ให้ตรงกับพิธีมอบปริญญาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อที่พระองค์จะได้ไม่ต้องเสด็จฯ ไปในพิธีดังกล่าว..."

ทั้งนี้ จากข้อมูลของบทความเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (27 มีนาคม พ.ศ. 2449 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450) โดยทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ก่อนการเสด็จฯ ไม่นาน

ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนยุโรปครั้งแรกก่อนหน้านั้น 10 ปี มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายแพ่งแด่พระองค์มาก่อน แต่พระองค์ก็มิได้ทรงร่วมพิธีเช่นเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยจึงส่งปริญญาไปยังสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ส่วนเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จฯ ไปในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในครั้งเสด็จฯ เยือนยุโรปครั้งที่ 2 นี้ เบื้องแรกพระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้ทางมหาวิทยาลัยส่งปริญญาไปยังสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเช่นเดียวกับเมื่อครั้งของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

แต่ทางเคมบริดจ์ยังไม่ละความพยายาม ขอพระบรมราชานุญาตจัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเป็นการพิเศษที่คฤหาสถ์ของดุ๊คแห่งเดวอนเชียร์ (Duke of Devonshire) นายกสภามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งพระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาต

 


ประดักประเดิดมาก “ร. 5” ทรงเลี่ยงไม่เสด็จฯ ร่วมพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาของ “ม.เคมบริดจ์”


ประดักประเดิดมาก “ร. 5” ทรงเลี่ยงไม่เสด็จฯ ร่วมพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาของ “ม.เคมบริดจ์”


ประดักประเดิดมาก “ร. 5” ทรงเลี่ยงไม่เสด็จฯ ร่วมพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาของ “ม.เคมบริดจ์”

cr.khaosod


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์