ดังเช่น "พระศรีนรารัฐราชกิริณี" เป็นหนึ่งในช้างสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นช้างสำคัญอยู่ในตระกูล "พรหมพงศ์" จำพวก "อัฏฐทิศ" ชื่อ "อัญชัน" ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจควรแก่การศึกษา
โดยช้างสำคัญเชือกนี้เป็นลูกช้างพัง อายุประมาณ 2 ปีเศษ มีถิ่นกำเนิดจากช้างป่า นายมายิ มามุ อายุ 50 ปี มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 4 ตำบลมนังตายอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ได้ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวนอยู่บนเขากือซา หมู่ที่ 7 ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ในขณะที่พืชผลที่ปลูกไว้กำลังเจริญงอกงามนั้น ได้มีช้างป่ามารบกวนกินพืชผักอยู่ตลอดเวลา
อยู่มาคืนหนึ่ง ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 มีแม่ช้างได้นำลูกช้างมากินพืชผลที่นายมายิปลูกไว้ นายมายิจึงทำการขับไล่ แม่ช้างหนีไป ส่วนลูกช้างไม่ยอมหนี นายมายิจึงได้นำลูกช้างดังกล่าวนี้มาเลี้ยงดูไว้ และตั้งชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองว่า "จิ" โดยเลี้ยงด้วยน้ำนมและพืชผักตามที่จะหาได้ อยู่มาวันหนึ่ง ลูกช้างไม่ยอมกินอาหารทำให้ร่างกายซูบผอมลง นายมายิ กลัวลูกช้างจะตายจึงกล่าวกับลูกช้างเป็นภาษาพื้นเมืองว่า "มาแกละเนอะ วีรายอ" ซึ่งมีความหายว่า "กินอาหารเสียเถอะ แล้วจะนำถวายพระเจ้าแผ่นดิน" เมื่อนายมายิกล่าวเช่นนั้น คำกล่าวนี้ดังจะบอกเหตุอันเป็นมงคล เพราะหลังจากนั้นลูกช้างก็ยอมกินอาหารดังปกติ
จากนั้น นายมายิเลี้ยงดูลูกช้างมาได้ 8 เดือนเศษ ก็ไม่สามารถจะเลี้ยงดูต่อไปได้ จึงมอบลูกช้างให้พันตำรวจตรี สาโรจน์ จินตวิโรจน์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นำมาเลี้ยงไว้ที่บริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอระแงะ และตั้งชื่อให้ลูกช้างพังเสียใหม่ว่า "จิตรา" ต่อมาพันตำรวจตรี สาโรจน์ จินตวิโรตน์ ได้มอบลูกช้างให้พันโทประสาท แทนขำ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 313 ซึ่งตั้งหน่วยปฏิบัติการอยู่ที่วัดชลธาราวาส ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ เลี้ยงดูอีกต่อหนึ่ง ซึ่งพันโทประสาท แทนขำ ได้สังเกตเห็นว่าลูกช้างพังนี้มีลักษณะดี จึงได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสทราบ