พระประสูติกาลคือเวลาประสูตินั้น พระโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) ได้ผูกดวงตามพระบรมราชสมภพ ตามที่ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับจดหมายเหตุ ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวบรวม เรียบเรียง และหม่อมราชวงศ์ เทวาธิราช ป.มาลากุล สมุหพระราชพิธี เป็นผู้ตรวจสอบ พิมพ์และเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2493 มีรายละเอียดว่า
"พระราชสมภพ วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศาสนายุกาล ๒๔๗๐ ตรงกับ ณ วันที่ ๒ ๑๒ฯ ๑ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๘๙ เวลา ๘ นาฬิกา ๔๕ นาที (๒ โมงเช้า ๔๕ นาที เวลาที่กรุงเทพฯ) พระลัคนาสถิตราศีธนู ตติบนวางค ๗ ปฐม ตรียางค ๖ เชฐฤกษ์ ๑๘ ประกอบด้วย สมณแห่งฤกษ์"
พระโหราธิบดี วางพระลัคนาไว้ที่ราศีธนู พระเกตุสถิตราศีมังกร พฤหัสบดีกับมฤตยู สถิตราศีมีน พระจันทร์สถิตราศีเมษ พระราหูสถิตราศีพฤษก พระศุกร์สถิตราศีตุล พระอาทิตย์ พระอังคาร พระพุธ และพระเสาร์ สถิตราศีพิจิก
บรรดาโหราจารย์กล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นเทพ พระองค์จึงทรงสถิตอยู่เหนือดวง ทรงบังคับบัญชาดวงได้ ดังนั้น ดวงพระราชสมภพจะมากำหนดพระราชกิจ พระราชจริยวัตรไม่ได้
ในวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 นั้น ดวงพระราชสมภพเป็นเครื่องสูงองค์หนึ่งที่ประกอบการราชพิธี ก่อนถึงวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เจ้าพนักงานอาลักษณ์เชิญดวงพระบรมราชสมภพพร้อมด้วยพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกรประจำรัชกาลออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีพระรัตนศาสดาราม อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑล ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
การจารึกดวงพระราชสมภพนั้นมีพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อมกันกับการจารึกพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
พระราชพิธีนี้มีกำหนดการในวันที่ 21-22 เมษายน 2493 โดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (โสม ฉนฺน) แห่งวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ และพระครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) เป็นพราหมณ์ในพิธี
พระยาโหราธิบดีจารึกดวงพระราชสมภพบนแผ่นทองคำ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤษดากร ศิลปิน แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล และหลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับสาตราภัย) หัวหน้ากองประกาศิตในหน้าที่อาลักษณ์ จารึกอักษรพระปรมาภิไธย
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ลงในพระสุพรรณบัฏแผ่นทองเนื้อ 8 กว้าง 17 ซม. ยาว 31.5 ซม. หนัก 192.500 กรัม
ที่ว่าทองเนื้อ 8 นี้ เป็นการกำหนดความบริสุทธิ์ของทองคำตามประกาศรัชกาลที่ 4 กำหนดคุณภาพของเนื้อ ตั้งแต่เนื้อ 4 ถึงเนื้อ 9 โดยตั้งพิกัดราคาตามเนื้อทอง เช่นทองเนื้อ 4 คือทองหนัก 1 บาท ราคา 4 บาท ทองเนื้อ 9 ก็คือทองหนัก 1 บาท ราคา 9 บาท ทองเนื้อ 9 เป็นทองคำบริสุทธิ์ มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ทองชมพูนุช ทองธรรมชาติ หรือทองนพคุณเก้าน้ำ
ทองเนื้อ 9 เป็นทองที่เนื้ออ่อนมาก เอามาทำทองรูปพรรณหรือเครื่องใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องเจือด้วยโลหะอื่นบ้างถึงจะแข็งพอใช้งานได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และพระราชครูวามเทพมุนี รับพระบรมราชโองการด้วยภาษามคธว่า
"โอมฺ เทวสฺส อิมฺ โองฺการภูตํ สูรสีหนาททํ สมฺปฏิจฺฉามิ" กราบบังคมทูลเป็นภาษาไทยว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระราชโองการสุรสิงหนาท ประถมธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ"
ที่กล่าวมานั้นคือดวงพระราชสมภพและพระราชพิธีการจารึกดวงพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งทรงสถิตอยู่เหนือดวง ทรงบังคับบัญชาดวงเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ทรงอุทิศพระราชหฤทัยและพระวรกายด้วยความเหน็ดเหนื่อย ฝ่าฟันอุปสรรคอันตรายนานา ทรงงานเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎรและความเจริญมั่งคงของบ้านเมืองตลอดมาเป็นเวลา 70 ปี
ข้อมูลจาก : หนังสือต่วยตูน ปักษ์แรก ธ.ค. 50 ,bangkokbanksme.com