‘เต้าหู้’อาหารสุขภาพ ข้ามศตวรรษ ข้ามทวีป! ที่มีงานวิจัยรองรับ


‘เต้าหู้’อาหารสุขภาพ ข้ามศตวรรษ ข้ามทวีป! ที่มีงานวิจัยรองรับ

นานกว่าสามพันปีที่มีหลักฐานว่าคนจีนรู้จักการปลูกถั่วเหลือง และใช้ถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ ประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์กาลที่คนจีนรู้จักการกินเต้าหู้ ต่อมาคนญี่ปุ่นได้รับเอาวัฒนธรรมการกินถั่วเหลืองและการทำเต้าหู้

ประมาณกลางศตวรรษที่ 18 ถั่วเหลืองได้แพร่เข้าไปในยุโรป และได้แพร่เข้าไปในอเมริกามาไม่นานคือในช่วงที่มีการอพยพของชาวจีนในปี ค.ศ.1880 จากนั้นถั่วเหลืองได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจของอเมริกา อย่างรวดเร็วเพื่อเป็นอาหารในการปศุสัตว์ และส่งเป็นสินค้าออกไปสู่เอเชีย ปัจจุบันอเมริกาผลิตถั่วเหลือง 49% ของทั่วโลก

ประมาณเมื่อปี ค.ศ.1960 เต้าหู้ได้เข้าไปแพร่หลายในอเมริกาในร้านภัตตาคารจีนและประกอบเป็นอาหารตามบ้านของคนเอเชีย-อเมริกัน หลังจากนั้นเต้าหู้กลายเป็นอาหารสุขภาพยอดนิยมของคนอเมริกัน มีการศึกษาพบว่าในเต้าหู้มีสารที่มีประโยชน์กับสุขภาพชื่อ isoflavone

สารนี้จัดว่าเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่าออร์โมนเอสโตรเจนโดยทั่วไปมาก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งเต้านม

 

ปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีว่าสาร isoflavone จากถั่วเหลืองมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย อาทิ

การควบคุมคอเลสเตอรอล เป็นที่ทราบกันดีว่าเทื่อเปรียบเทียบกับคนเอเชีย คนอเมริกันเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่ามาก เนื่องจากคนเอเชียใช้แรงงานมากกว่า รับประทานอาหารที่มีไขมันน้อยกว่า และยังมีชีวิตชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้น คนเอเชียยังนิยมรับประทานเต้าหู้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าสารในเต้าหู้มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ในปี ค.ศ.1999 คณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ, FDA)ของอเมริกาได้ยินยอมให้อาหารที่มีโปรตีนของถั่วเหลืองอย่างน้อย 6.25 กรัม สามารถอ้างสรรพคุณบนฉลากได้ว่าอาหารนั้นมีสรรพคุณลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจ

ป้องกันกระดูกพรุน โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะรับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ทำการวิจัยพบว่าสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีการรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองสูงมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนน้อยกว่าสตรีวัยหมดประจำเดือนที่รับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองน้อย และยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ยืนยันว่าการรับประทานอาหารอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกแม้แต่ในวัยทำงานทั่วๆ ไป

ป้องกันอาการผิดปกติจากวัยหมดประจำเดือน ประมาณร้อยละ 85 ของสตรีอเมริกันวัยหมดประจำเดือนจะมีอาการร้อนวูบวาบ ในขณะที่อาการนี้จะเกิดกับสตรีวัยหมดประจำเดือนของคนเอเชียเพียงร้อยละ 25 แม้ว่าอาการเหล่านี้จะสามารถใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาได้ แต่ยาดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม ดังนั้น จึงมีสตรีอเมริกันจำนวนน้อยที่ใช้ยาตัวนี้ ปัญหาที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้สตรีอเมริกันมีการอาการผิดปกติจากวัยหมดประจำเดือนมากกว่าสตรีชาวเอเชีย มีการทดลองให้สตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการร้อนวูบวาบตามตัวรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองพบว่าสามารถลดอาการผิดปกติ เช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่ออกเวลากลางคืน

มะเร็งเต้านม มีรายงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าเมื่อเปรียบเทียบผู้หญิงเอเชียกับผู้หญิงอเมริกัน พบว่าผู้หญิงเอเชียมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และอาหารที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยปกติแล้วฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งเต้านม จากการไปกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม แต่การที่ถั่วเหลืองมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอ่อนๆ จึงไปแย่งจับกับรีเซพเตอร์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงยับยั้งการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจึงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ มีงานวิจัยมากมายในการสนับสนุนแนวคิดนี้ นอกจากนี้แล้วผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองยังสามารถยับยั้งมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นเดียวกัน

ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองยังมีอีกมากมายตั้งแต่การยับยั้งมะเร็งบางชนิด การกำจัดพิษโลหะหนัก ดังนั้น เราคนเอเชียแท้ๆ เกิดมากับเต้าหู้ กินเต้าทอด น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ผัด เต้าหู้ต้มจืด ฟองเต้าหู้ผัดหน่อไม้จีน ใครจะรู้เรื่องเต้าหู้ดีไปกว่าเรา



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์