ท่านชัชชาติเริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบว่า เราทุกคนเหมือนท่อนไม้ที่ขรุขระ ต้องเกลาจนสามารถเอาไปใช้ได้ การที่ท่านเรียนจบปริญญาเอกได้ไม่ใช่เพราะฉลาด แต่เป็นเพราะขยัน ซึ่งสมองอาจเป็นส่วนนึง แต่ความมุ่งมั่นและตั้งใจ ความขยัน การจัดตารางชีวิต เป็นปัจจัยของความสำเร็จ
ชีวิตของท่าน ขึ้นลงไปมา ไม่ได้เป็นขั้นบันได เหมือนคนอื่น จากนักเรียนมาเป็นอาจารย์ ไปเป็นรัฐมนตรี พอโดนรัฐประหารก็ตกงาน แล้วก็ได้มาเป็น CEO ซึ่งมันดูไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ท่านทำได้ ล้วนมาจากนิสัยเป็นหลัก
ท่านแนะนำให้ลองดูหนังเรื่อง Interview with the Vampire (1994) เป็นเรื่องของผีแวมไพน์สองตัว ที่มีตัวหนึ่งเป็นฝ่ายดี ไม่กินเลือดมนุษย์ กินแต่เลือดสัตว์ เลยทำให้ไม่มีแรงใช้ชีวิต ตรงกันข้าวกับตัวร้ายที่ฆ่าและกินแต่เลือดมนุษย์ ทำให้แข็งแรง และทั้งสองมาเจอกันโดยมีประโยคที่น่าสนใจคือ
"Evil is a point of view" (ความชั่วร้ายเป็นเรื่องของมุมมอง) หมายถึง ทั้งสองเป็นแวมไพน์เหมือนกัน ดังนั้นการฆ่าคนจึงไม่ได้คิดว่าชั่วร้ายอะไร
"God kills indiscriminately, and so shall we" (พระเจ้าเองก็ฆ่าไม่เลือกหน้าเช่นกัน) ดังนั้นมันไม่ผิดอะไรเลยที่แวมไพน์ก็จะไปฆ่าคน
ท่านชัชชาติเปรียบว่า พระเจ้า (God) ในประโยคข้างต้น หมายถึง เวลา (Time),
"เวลาก็ฆ่าเราทุกคนไม่เลือกหน้าเช่นกัน" เพราะ ทุกวินาทีที่ผ่านไป เราได้ใกล้ความตายโดยเราไม่รู้สึกตัว
เรามักไม่เห็นความสำคัญของ "เวลา" และที่น่าเสียใจคือ "คนไทย" ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเวลา เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาจเพราะเรามีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำอย่างไรก็รอดตาย ไม่เหมือนกับสิงคโปร์ที่ต้องดิ้นรนหลังจากแยกตัวออกมาจากประเทศมาเลเซีย ดังนั้น เวลา ของเขาจึงสำคัญ
ท่านชัชชาติ ยกตัวอย่าง ประเทศไทยกับสิงคโปร์ ในช่วงปี 2547-2556 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็น "ทศวรรษที่สูญหาย" เพราะเรามีรัฐประหาร น้ำท่วม ยุบพรรค คนเจ็บ คนตาย ซึ่งตีเป็นมูลเสียหาย 1.7ล้านล้านบาท โดยที่เราแทบไม่มีการลงทุนทำอะไรเลย ในขณะที่ช่วงเวลา 10 ปีเดียวกัน สิงคโปร์สร้างโครงการ Marina Bay เริ่มตั้งแต่วางแผน และก่อสร้าง ลงทุนมากกว่า 32.5พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และก็กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ไป
ถ้ายกตัวอย่างโครงการในอดีตของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มคิดจนสร้างเสร็จ, ท่าเรือแหลมฉบังไทย เราใช้เวลา 30 ปี, สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลา 45 ปี หรือ รถไฟความเร็วสูงเราเริ่มศึกษาในปี 2537 แต่จนทุกวันนี้ เราก็ยังศึกษามันอยู่.. จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเวลาเท่าไรนัก หรือในกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เราสร้างเสร็จแต่ไม่มีคนใช้งาน เราก็ได้แต่บอกว่ารอไปก่อน เดี๋ยวก็มีคนใช้ ซึ่งในขณะที่รอ มันมีมูลค่าเสื่อมวันละ 5ล้านบาท