แม้ตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจของประเทศ แต่ วังสระปทุม แห่งนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งลักษณะที่สวยงามเฉพาะตัวพร้อมกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน อีกทั้งยังเคยเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เจ้านายที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ซึ่งในวันนี้เราจะพาไปย้อนอดีตที่มาและความสำคัญของวังแห่งนี้กันค่ะ
ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันถึงคลองแสนแสบ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในการสร้างวัง แต่ยังไม่ทันได้ดำเนิน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเสียก่อน ดังนั้นการสร้างวังจึงถูกพักไว้
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงสานต่อพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 โดยพระราชทานสิทธิ์ในที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ได้เสด็จฯ ออกจากพระบรมมหาราชวัง และไปประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ในช่วงระหว่างดำเนินการก่อสร้างวังบนที่ดินพระราชทานเป็นการชั่วคราว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงวางผังในการสร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ให้ถูกต้องตามฤดูกาลและทิศทางลม เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านนี้เป็นอย่างมาก หลังจากการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ พระองค์ก็เสด็จฯ มาประทับอยู่เป็นการถาวร
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จกลับไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส ต่อมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จสวรรคต ปี พ.ศ. 2472 วังสระปทุมแห่งนี้ก็ยังใช้เป็นที่ประทับของ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2498 พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคต และต่อมาในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมแห่งนี้ให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะและสถาปัตยกรรม
เดิมพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่โดยรอบวังปลูกต้นไม้และพืชผักนานาชนิด แต่ในปัจจุบันพื้นที่วังสระปทุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือส่วนที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับอยู่ และส่วนที่ให้เช่าทำห้างสรรพสินค้า
ด้านสถาปัตยกรรม มีการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดย เปาโล ปิอาชินี สถาปนิกชาวอิตาลีน ที่เน้นโครงสร้างหลักของอาคารให้เป็นรูปทรงแบบยุโรป ตกแต่งอาคารด้วยการทาสีสว่างซึ่งจะไม่ทำให้ตัวอาคารอมความร้อนเอาไว้ ภายในวังสระปทุมประกอบด้วยพระตำหนักทั้งหมด 3 แห่ง และเรือนข้าราชบริพารอีก 1 แห่ง ดังนี้
- พระตำหนักใหญ่
เป็นพระตำหนักใหญ่ที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางของวังสระปทุม ซึ่งพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงใช้เป็นตำหนักที่ประทับ ลักษณะโครงสร้างเป็นสไตล์ยุโรป รูปแบบอาคาร 2 ชั้น ตกแต่งอาคารพระตำหนักด้วยสีเหลืองเข้ม ภายในถูกแบ่งออกเป็นห้องและพื้นที่ต่าง ๆ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งงานชั้นเยี่ยมจากต่างประเทศส่วนใหญ่
ความพิเศษของการออกแบบนั่นก็คือ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงออกแบบผังภายในอาคารให้สามารถรับลมและแสงได้อย่างเหมาะสม จนทำให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก อีกทั้งพระตำหนักแห่งนี้ยังเคยเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะสำคัญ
ซึ่งปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งให้เป็น "พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
- พระตำหนักเขียว
ตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบและเป็นพระตำหนักที่พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อใช้เป็นที่ประทับอยู่ภายในวังสระปทุม ลักษณะของพระตำหนักเขียว เป็นอาคารที่ก่ออิฐถือปูน ตกแต่งตัวอาคารด้วยสีเขียว และเคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์
- พระตำหนักใหม่ หรือพระตำหนักสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์
พระตำหนักแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่หลังจากที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับไทย โดยให้ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะอาคารที่เป็นแบบอังกฤษ ต่อมาชาววังได้ขนานนามพระตำหนักแห่งนี้ว่า "พระตำหนักใหม่" นั่นเอง
- เรือนข้าราชบริพาร
เป็นที่พักอาศัยสำหรับข้าราชบริพาร ซึ่งมีการก่อสร้างถึง 2 ครั้งด้วยกัน ในครั้งแรกนั้นสร้างขึ้นพร้อมพระตำหนักใหญ่ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ตกแต่งด้วยสีเขียว มีการฉลุขอบเชิงชายและช่องลมให้เป็นจุดเด่น และในครั้งที่ 2 สร้างขึ้นพร้อมพระตำหนักใหม่ ด้วยการก่ออิฐถือปูนให้เป็นอาคาร 2 ชั้น
ความสำคัญ
วังสระปทุมแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น เพราะยังเป็นสถานที่สำคัญที่ควรค่าแก่ความทรงจำ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นวังแห่งความรัก เนื่องจากเคยใช้เป็นสถานที่จัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ซึ่งในคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ต่อมาวังสระปทุมแห่งนี้ก็ได้ก่อกำเนิดความรักขึ้นอีกครั้ง และเป็นครั้งสำคัญที่นำความปลาบปลื้มมาให้พสกนิกรชาวไทย นั่นก็คือ เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493
ในการนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลงพระนามด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามในทะเบียนด้วย หลังจากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯ ออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ แด่ทั้ง 2 พระองค์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินี พระยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกด้วย
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
วังสระปทุมจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเท่านั้น และเปิดเพียงปีละ 3 ครั้ง ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 150 บาท และนักเรียน-นักศึกษา 50 บาท หากใครสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและจองล่วงหน้าได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-252-1965-7 ที่อยู่ เลขที่ 195 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330