จากคณะเก็บศพไร้ สู่ “มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง” ด้วยแรงกุศลแห่งการบำเพ็ญทาน สู่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยชื่อดัง?
หน้าแรกTeeNee อาหารสมอง อาหารสมอง จากคณะเก็บศพไร้ สู่ “มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง” ด้วยแรงกุศลแห่งการบำเพ็ญทาน สู่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยชื่อดัง?
มูลนิธิมีที่มาจาก คณะเก็บศพไต้ฮงกง ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๕๒ โดยพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ ๑๒ คน ในการดำเนินงานระยะแรกของคณะเก็บศพไต้ฮงกงเป็นไปอย่างอัตคัต เงินที่ได้รับบริจาคไม่พอกับค่าใช้จ่าย และเมื่อในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองในปี พ.ศ.๒๔๕๕ คณะผู้ก่อตั้งขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินช่วยเหลือให้ปีละ ๒,๐๐๐ บาท แต่ถึงกระนั้นการดำเนินงานก็ยังทำได้ในวงจำกัด จน พ.ศ.๒๔๘๐ นักธุรกิจจีนได้ร่วมกับบรรดาสมาคมและหนังสือพิมพ์จีน ระดมความคิดปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียน (ทุน ๒,๐๐๐ บาท) จัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม ป่อเต็กตึ๊ง หรือในชื่อเต็มว่า ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง (ฮั่วเคี้ยว หรือหัวเฉียว หมายถึง ชาวจีนโพ้นทะเล, ป่อเต็ก แปลว่า สนองพระคุณ, เซี่ยง หรือเสียง หมายถึง ทำบุญกุศล และ ตึ๊ง หมายถึง ศาลาหรือองค์กร) เป็นมูลนิธิลำดับที่ ๑๑ ของประเทศสยาม
คณะกรรมการบริหารมูลนิธิชุดแรก มีนายเหียกวงเอี่ยมเป็นประธาน และมีนายแต้โหงวเล้า หรือนายอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นรองประธาน (อายุเพียง ๒๔ ปีขณะนั้น) ขยายวัตถุประสงค์จากเดิมที่เก็บศพไร้ญาติเพียงอย่างเดียว ไปสู่การบำเพ็ญทานทั่วไปและรักษาพยาบาลผู้อนาถายากไร้ไม่จำกัดเชื้อชาติ ต่อมาในทศวรรษ ๒๔๘๐ ประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่สงบ จากสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นรุกรานชาติต่างๆ นับจากจีน แผ่ขยายวงออกไป นายเหียกวงเอี่ยมผู้มีบทบาทต่อต้านการรุกรานของจีนของญี่ปุ่นถูกลอบสังหารเสียชีวิต นายอุเทน เตชะไพบูลย์จึงรับหน้าที่ต่อ
ในช่วงต้นของสงคราม ชาวจีนได้หลั่งไหลหนีภัยมายังประเทศไทยจำนวนมาก คน ๑ ใน ๔ ของผู้อพยพเป็นหญิงที่ติดตามสามีมา ส่วนใหญ่ยากไร้และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และด้วยความที่ไม่คุ้นกับภาษาและวัฒนธรรมสยาม ทำให้เกิดปัญหายามตั้งครรภ์และตอนคลอดบุตร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้มีส่วนช่วยโดยได้เปิดสถานผดุงครรภ์หัวเฉียว (ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูลิ่วซั่วอี่) ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ขนาด ๘ เตียงที่หลังศาลป่อเต็กตึ๊ง (ถนนพลับพลาไชย) การให้บริการทำคลอดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ จึงขยายสถานผดุงครรภ์ไปเป็นโรงพยาบาลหัวเฉียว (ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูอุยอี่) ขนาด ๒๕ เตียง (ใช้ห้องเช่าแถวพลับพลาไชย) ให้บริการทำคลอดเกือบ ๓,๐๐๐ คน และได้ผลักดันจัดตั้ง โรงเรียนผดุงครรภ์หัวเฉียว จนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ในช่วงที่สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ซ้ำยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นเวลาเดือนเศษ มูลนิธิทำภารกิจหนักในการจัดหาข้าวสารไปแจกจ่ายประชาชนที่เดือดร้อน
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ ภัยสงครามทางอากาศรุนแรงขึ้น ทำให้ในกรุงเทพฯ ถูกระเบิดทำลาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลายเช่นกัน มูลนิธิเป็นธุระเสาะหาน้ำสะอาดมาบรรเทาความขาดแคลน และยังจัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทางอากาศ และเก็บศพเหยื่อสงครามและผู้ตามไร้ญาติกว่าหมื่นศพ (ตลอดทั้งสงคราม)
เมื่อสงครามเริ่มซาลง (พ.ศ. ๒๕๘๙-๒๔๙๐) ชาวจีนจำนวนมากถึง ๑๗๐,๐๐๐ คนอพยพมายังประเทศไทยโดยเรือกลไฟ นำโรคระบาดมาคือริดสีดวงตา ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเพราะทำให้ตาบอดได้ ทางการไทยสั่งกักผู้โดยสารที่มาถึงกรุงเทพฯ ไว้เกือบ ๑ เดือน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเข้ามาบรรเทาความเดือนร้อนแก่ชาวจีนอพยพ โดยนำข้าวต้ม น้ำสะอาดและเวชภัณฑ์ มาช่วยเหลือต่อเนื่อง ๔๐๐ วัน และยังช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวจีนโพ้นทะเล โดยช่วยเหลือด้านค่าธรรมเนียมและต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โดยทำมายาวนาน ๒๕ ปี รวมถึงยื่นขอใบอนุญาตทำงานแก่ชาวจีนถึงราว ๘๐,๐๐๐ คน
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินงานสาธารณะสงเคราะห์มาเป็นลำดับ ทั้งกิจกรรมหลักแรกเริ่ม คือการเก็บศพไร้ญาติ ไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว หรือุทกภัย รวมไปจนถึงความยากจน ในปัจจุบันภารกิจของหน่วยกู้ภัยป่อเต็กตึ๊งมิได้ทำเพียงการเก็บศพอย่างเดียว แต่ดูแลเรื่องศพจนจบสิ้นกระบวนการ โดยจะทำพิมพ์นิ้วมือ ทำประวัติและถ่ายรูปผู้ตาย จากนั้นส่งศพไปเก็บที่นิติเวชหรือโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้ญาติมารับ หากไม่มีผู้มารับศพ มูลนิธิจะรับศพไปฝังชั่วคราว โดยที่สุสานของป่อเต็กตึ๊ง หากฝังครบ ๓ ปี ไม่มีผู้มาขอรับศพ มูลนิธิจะทำพิธีฌาปนกิจให้ (ภายหลังจากทางราชการออกใบมรณบัตร)
งานสังคมสงเคราะห์ที่สำคัญและถือเป็นประเพณีบุญของมูลนิธิมายาวนาน คือ งานทิ้งกระจาด ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในเทศกาลสารทจีน มีผู้ร่วมรับทานกว่า ๗๐,๐๐๐ คนต่อปี ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากบริการหลักที่โรงพยาบาลหัวเฉียว (ขนาด ๗๕๐ เตียง) แล้วยังมีบริการหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลหัวเฉียว ออกไปให้บริการแก่ผู้ยากไร้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ทั้งในยามปกติและยามประสบสาธารณภัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
หลังจากที่มูลนิธิดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์มานานกว่า ๔ ทศวรรษ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิมีมติขยายวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนด้วย จึงเกิดแนวคิดที่มาของสถาบันอุดมศึกษานามพระราชทาน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนรวม ๑๓ คณะ
ที่มา : tnews
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น