นฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระราชดำริ ร.9 แห่งสุดท้าย


นฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระราชดำริ ร.9 แห่งสุดท้าย

พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่ทรงปรารถนาให้ปวงพสกนิกรชาวไทยอยู่ดีกินดีนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดมาตลอด 70 ปีแห่งรัชกาล ด้วยโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ

เป็นที่น่ายินดียิ่ง โดยในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการแหล่งน้ำในพระราชดำริโครงการสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9

สุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผวจ.ปราจีนบุรี เล่าถึงความเป็นมาของอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง โครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ว่าโปรดให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มหนุนลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีในหน้าแล้ง เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกล ที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิตพสกนิกรใน จ.ปราจีนบุรี ให้พ้นจากภัยน้ำท่วม ภัยน้ำเค็มหนุน จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรม และนำมาอุปโภคบริโภคได้ ส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรรมไปยังลูกหลาน

"โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงได้รับพระราชทานชื่อใหม่จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า ‘อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา' เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2559 มีความหมายว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"


พ่อเมืองปราจีนบุรีบอกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมงในช่วงระหว่างปี 2521-2544 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2552 อนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะเวลาก่อสร้าง 9 ปี โดยกรมชลประทานเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน ความสูงกว่า 32 เมตร ความยาวกว่า 3,967 เมตร มีความจุที่ระดับเก็บกัก 295 ล้านลูกบาศก์เมตรพร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

ประโยชน์ที่ชาวปราจีนบุรีเห็นเป็นรูปธรรมหลังจากการกักเก็บน้ำในปี 2559 คือ พื้นที่บริเวณตลาดเมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยโครงการของพ่อหลวง ทำให้คนในชุมชนตลอดจนพื้นที่ สองฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรีพ้นจากภัยน้ำท่วมและน้ำขังเป็นการถาวร และในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาช่วยระบายน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี จึงยังคงผลิตน้ำประปาส่งให้ชุมชนได้ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ชาวบ้านจะไม่มีน้ำประปาใช้ในหน้าแล้งเพราะน้ำเค็มรุกเข้ามา

นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ. ปราจีนบุรี ชาวบ้านสามารถทำประมงในพื้นที่ ขายปลาราคาถูก โดยเปิดให้ประชาชนหาปลาในอ่างและเปิดสหกรณ์แพปลา

นิรันดร์ บัวจู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.แก่งดินสอ บอกว่าอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดามีคุณประโยชน์นานัปการทั้งการเกษตรและประมง ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างสบาย หลังการกักเก็บน้ำปี 2559 ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการสร้างอ่างเก็บน้ำได้มีอาชีพประมงพื้นบ้าน สามารถหาปลาน้ำจืดได้นานาชนิด และรวมเป็นกลุ่ม

"ก่อนหน้านี้พื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ อยู่ระหว่างรอยต่อของ จ.ปราจีนบุรี กับสระแก้ว มีแหล่งต้นน้ำจากอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดามรดกโลกไหลผ่านลงคลองห้วยโสมง เมื่อถึงช่วงฤดูฝนน้ำจะหลากท่วม และสูญเปล่าลงพื้นที่ลุ่มด้านล่าง และช่วงหน้าแล้งประสบปัญหาน้ำแห้งขาดแคลน ใช้ประโยชน์จำกัดตามฤดูกาลและบางพื้นที่เท่านั้น"

แต่ภายหลังการก่อสร้าง และกักเก็บน้ำได้แล้ว ประชาชนต่างเห็นคุณค่า ชาวนาทำนาได้ผลผลิต ไม่เสี่ยงน้ำท่วม พืชสวนพืชไร่มีน้ำชลประทานที่กักเก็บไว้อุปโภคบริโภคเพียงพอ และมีอาชีพประมงพื้นบ้านเสริมรายได้ตลอดทั้งปี สามารถสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนมีชีวิตที่ดีขึ้น

พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อปวงพสกนิกร จะยังคงเป็นสิ่งที่รำลึกในหัวใจของคนไทยตราบชั่วนิรันดร์


นฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระราชดำริ ร.9 แห่งสุดท้าย


นฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระราชดำริ ร.9 แห่งสุดท้าย

Cr::: posttoday.com

นฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระราชดำริ ร.9 แห่งสุดท้าย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์