หมีขาวขั้วโลก ล่าเหยื่อได้น้อยลง เพราะแผ่นน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น

ผลการศึกษานี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของหมีขาวขั้วโลก หรือหมีโพลาร์ (Polar Bear) ในขณะที่สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้พื้นที่ล่าของหมีขาวเปลี่ยนแปลงไป บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดว่าหมีโพลาร์อาจจะล่าเหยื่อไม่ได้

หมีโพลาร์ใช้เวลาส่วนใหญ่บนแผ่นน้ำแข็งบนผิวหน้าของทะเลเพื่อคอยดักจับแมวน้ำ อาหารสุดโปรดที่อ้วนพีและให้พลังงานสูง

แต่แผ่นน้ำแข็งเหนือทะเลได้ละลายและลดพื้นที่ลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ต่อระยะเวลา 10 ปี ในขณะที่โลกอุ่นขึ้นและน้ำแข็งในขั้วโลกจะแตกออกจากกันเร็วขึ้นกว่าเดิมในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และจับตัวเป็นน้ำแข็งอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ชี้ว่า จำนวนหมีโพลาร์กำลังลดลง และแม้ยังไม่ถือว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แต่ก็มีโอกาสสูง เนื่องจากคาดว่าประชากรหมีโพลาร์อาจจะลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น ภายในชีวิตของหมีขาวขั้วโลกเพียงสามรุ่นเท่านั้น

แต่ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ว่าสาเหตุมาจากหมีขั้วโลกจับแมวน้ำได้ไม่เพียงพอ หรือเป็นเพราะว่าหมีต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าเดิมในการจับแมวน้ำ หรือว่าหมีต้องเดินทางไกลออกไปกว่าเดิมในการล่าแมวน้ำ

ความสงสัยเหล่านี้ทำให้ แอนโธนี่ พากาโน่ (Anthony Pagano) นักชีววิทยาแห่งสำนักงาน U.S. Geological Survey และเพื่อนร่วมงาน เดินทางไปยังทะเล Beaufort ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และใช้เครื่องยิงยาสลบจับหมีขั้วโลกได้ 9 ตัว เพื่อทำการศึกษา

หลังจากนั้น ทีมงานได้ชั่งน้ำหนักตัวของหมีและเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวัดดูระดับการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และทีมงานได้ใส่ปลอกคอให้หมีทุกตัว โดยที่ปลอกคอติดกล้องถ่ายภาพวิดีโอ เครื่องติดตามจุดที่ตั้งด้วยระบบจีพีเอส และอุปกรณ์ติดตามการเดินทางของหมี

หลังจากนั้นราว 10 วัน ทีมงานได้จับตัวหมีอีกครั้งเพื่อวัดดูน้ำหนักและถอดปลอกคอออกจากตัวหมี

นักวิจัยกล่าวว่า น่าทึ่งมากที่ได้ชมภาพวิดีโอจากกล้องหมีขั้วโลกใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้นักวิจัยทั่วไปไม่มีโอกาสได้ชีวิตประจำวันของหมี แต่ทีมงานของ Pagano ได้ชมภาพถ่ายชีวิตประจำวันของหมีในขณะที่หมีออกล่าเหยื่อ จับคู่และผสมพันธุ์ แต่ภาพส่วนใหญ่ เป็นภาพหมีนั่งอยู่เฉยๆ

นักวิจัยกล่าวว่า หมีขั้วโลกเหล่านี้ทำกิจกรรมต่างๆ เพียงแค่ 35 เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่มีทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าหมีนอนพักผ่อนราว 65 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งวัน ทีมนักวิจัยชมภาพถ่ายของหมีเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมัน แต่ภาพถ่ายวิดีโอที่ได้ส่วนมากเป็นภาพของหมีกำลังพักผ่อน

ผลการศึกษาอย่างหนึ่งที่น่าทึ่งมากที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของน้ำหนักตัวหมีในช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตามดู
ทีมนักวิจัยพบว่า หมีขั้วโลก 5 ตัวจาก 9 ตัวจับเหยื่อไม่ได้เลยในขณะที่ถูกเฝ้าติดตามดู หมีขาว 4 ตัวน้ำหนักตัวลดลง 10 เปอร์เซ็นต์จากเดิม นักวิจัยกล่าวว่า สำหรับหมีขาว น้ำหนักตัว 180 กิโลกรัม หมายความว่าหมีน้ำหนักลดลง 18-20 กิโลกรัมในช่วง 10 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเสียน้ำหนักตัวค่อนข้างมากในช่วงเวลาสั้นๆ

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาหมีขั้วโลกในเดือนมีนาคมและเมษายน ก่อนที่แผ่นน้ำแข็งบนผิวหน้าทะเลจะเริ่มละลายและแยกตัวจากกัน นักวิจัยกล่าวว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่หมีขั้วโลกต้องกินอาหารปริมาณมาก เพื่อเพิ่มน้ำหนักตัวให้มากเพียงพอแก่การอยู่รอดได้ตลอดทั้งปี

ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่า การเผาผลาญพลังงานในร่างกายของหมีขาวยังสูงกว่าระดับเดิมที่วัดเอาไว้ถึงหนึ่งเท่าตัวครึ่ง

พากาโน่ อธิบายว่า หมีโพลาร์จำเป็นต้องจับแมวน้ำได้จำนวนมากเพื่อกินเป็นอาหาร และเมื่อน้ำแข็งบนผิวหน้าทะเลยังลดลงต่อไปและแตกออกจากกันเร็วกว่าเดิม เขากล่าวว่าหมีขั้วโลกก็จะยิ่งล่าเหยื่อได้ลำบากมากขึ้น


หมีขาวขั้วโลก ล่าเหยื่อได้น้อยลง เพราะแผ่นน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น

ที่มา - voathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์