ไม่ลืมคุณไทย หนุ่มเกาหลีเหนือร่ำรวยในเกาหลีใต้ กลับมาขอบคุณและช่วยเพื่อนร่วมชาติ
สายวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ คิม ฮัก มิน ปรากฏตัวบนถนนที่ขนานกับตลิ่งริมลำน้ำโขง สายตาของเขามองไกลออกไปที่สายน้ำที่หลั่งไหล แล้วชี้มือไปยังบริเวณที่เรือของเขาจอดเทียบ"
ตรงนี้แหละที่ผมเหยียบเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเจ็ดปีก่อน" คิม ฮัก มิน หรือ "โซกัง สตีฟ จอบส์" ฉายาใหม่ของเขาในเกาหลีใต้ ที่ได้จากการสร้างฐานะในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
ในปี 2011 คิม ฮัก มิน เขากับเพื่อนร่วมชาติกลุ่มหนึ่งหลบหนีออกมาจากเกาหลีเหนือ โดยเดินทางเข้าไปในจีน ผ่านลาว และมายังประเทศไทย
"ไทยเป็นที่แรกที่ผมรู้สึกเป็นอิสระไม่ต้องกังวล เพราะเมื่ออยู่ในจีนมีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับเกาหลีเหนือ แต่เมื่อถึงไทยความเสี่ยงก็หมดไป" คิม ฮัก มิน เปิดใจ
ระหว่างการพำนักในประเทศไทย เขาได้พบกับน้ำใจที่มากมายของคนไทยที่มีต่อชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ จนเกิดความประทับใจ
เขาเล่าว่า เมื่อกลุ่มผู้ลี้ภัยมาขึ้นฝั่งในไทย คนไทยต่างให้ความช่วยเหลือ โทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ เพื่อให้พวกเขาได้รายงานตัว และเข้าสู่กระบวนการส่งตัวไปยังเกาหลีใต้ ประเทศเป้าหมายที่ผู้แปรพักตร์เหล่านี้คาดหวังว่าจะได้อยู่อย่างเสรีและมีความปลอดภัยในชีวิตอย่างที่หาไม่ได้ในบ้านเกิดของเขา
บ้านเกิดอันหนาวเย็น
คิม ฮัก มิน เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เขาหนีมาจากเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่อยู่บริเวณชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีเหมืองถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมหลัก ครอบครัวของเขาแต่เดิมนั้นอยู่ในกรุงเปียงยาง แต่เนื่องจากปู่ของเขาเป็นบาทหลวงในศาสนาคริสต์ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งครอบครัวจึงถูกส่งมายังเมืองชายแดนอันห่างไกล
บทความเรื่อง The Strange History of North Korea Communists ของบีบีซีระบุว่าในปี 1956 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือสายจีนและรัสเซียรวมตัวกันที่จะกำจัดคิม อิล ซุง ซึ่งเป็นปู่ของ คิม จอง อึน ผู้นำคนปัจจุบัน ขณะนั้นคิม อิล ซุง กำลังกำอำนาจนำในพรรค แต่แผนล้มเหลว และตามมาด้วยการกวาดล้างขนานใหญ่ในพรรค
ปีต่อมาพรรคประกาศใช้ระบบชนชั้นที่เรียกว่า ซองบุน ซึ่งแบ่งประชาชนในประเทศเป็นสามประเภทใหญ่ คือ ชนชั้นนำ ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นผู้นำของพรรคและครอบครัว, ชนชั้นกลาง และชนชั้นที่เป็นภัย ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อระบบการปกครองของเกาหลีเหนือ ครอบครัวจากชนชั้นที่เป็นภัยนี้ บ้างก็ถูกกำจัด บ้างถูกจำคุก บ้างถูกทำกดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่สามารถก้าวหน้าทั้งในชีวิตและการงานได้เลย
ภายใต้ระบบซองบุนนี้เอง พลเมืองเกาหลีเหนือจำนวนไม่น้อยประสบความยากลำบาก ครอบครัวของคิม ฮัก มิน ก็เช่นกัน เขาเล่าถึงความยากจน มีอาหารไม่พอกินและไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ เมื่อพ่อเขาเสียชีวิตขณะที่เขาย่างสู่วัยรุ่น ครอบครัวก็ยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก น้องของเขาต้องถูกส่งไปอยู่กับญาติเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้นหน่อย
"แม่ของผมถูกสถานการณ์บีบให้ไปหางานทำในจีน แม่อยู่ที่นั่นถึง 10 ปี อย่างยากแค้น และถูกจับส่งกลับเกาหลีเหนือถึง 6 ครั้ง และทุกครั้งก็ถูกจำคุกและถูกทรมาน" เขารำลึกความหลัง
ด้วยเหตุนี้เด็กชายคิม ฮัก มิน จึงเคยชินกับการต้องดูแลตัวเอง โชคดีที่เขาได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างมาจากพ่อ ชายหนุ่มจึงรับซ่อมอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าต่าง ๆ หาเลี้ยงชีวิตเรื่อยมา แม้จะยากลำบาก แต่เขาไม่เคยมีความคิดที่จะออกไปจากเกาหลีเหนือ จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับชีวิตในเกาหลีใต้ผ่านหนังและละคร
บันเทิงพาทุกข์
การเป็นช่างซ่อมอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าทำให้เขามีโอกาสได้พบกับซีดีละครจากเกาหลีใต้ซึ่งมีผู้ลักลอบนำเข้ามา เขาดูซีรีย์เหล่านั้นด้วยความตื่นตาตื่นใจ
"ผมรู้จักกรุงโซลจากบรรดาซีรีย์และหนังเกาหลีใต้ที่ผมได้ดู และผมรู้สึกว่านั่นคือสวรรค์" คิม ฮัก มิน รำลึกความหลัง
แต่ความบันเทิงก็นำความทุกข์ยากมาสู่เขา เขาถูกจับถึงสองครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจและพบซีดีเหล่านั้น ครั้งแรกถูกจองจำหนึ่งสัปดาห์และครั้งที่สองหนึ่งเดือน ในระหว่างที่ถูกจองจำเขาถูกซ้อมทรมาน และพบกับคนที่ร่วมชะตากรรม ซึ่งทำผิดด้วยเรื่องคล้ายกัน
เหตุการณ์ทั้งสองทำให้เขาเริ่มคิดถึงความปลอดภัยของตัวเอง และเหนืออื่นใดความปลอดภัยและชีวิตในอนาคตของคนรักของเขา
เขากับคนรักเริ่มปรึกษากันเรื่องหนีออกจากประเทศ แม่ของคนรักออกไปอยู่เกาหลีใต้นานแล้วได้ให้ความช่วยเหลือ โดยส่งเงินมาให้สำหรับจ้างผู้ที่จะพาเขาหนี คิม ฮัก มิน ไปพบกับชายคนนั้นซึ่งอธิบายถึงเส้นทางที่จะไป จากนั้นเขาและคนรักก็ออกเดินทางร่วมกับผู้แปรพักตร์คนอื่น ๆ โดยข้ามแม่น้ำเล็ก ๆ ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับจีนออกมา
คิม ฮัก มิน ขอไม่เปิดเผยเส้นทางการหนีจากเกาหลีเหนือมายังไทยของเขา เนื่องจากไม่อยากให้เส้นทางนี้ถูกเปิดเผย ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่อยากออกมาจากเกาหลีเหนือยากลำบากกว่าเดิม
เขาเล่าแต่เพียงว่าออกจากเกาหลีเหนือเมื่อเดือนมกราคม ปี 2011 และมาถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากรายงานตัวกับตำรวจ รวมทั้งรับโทษจองจำจากการเข้าเมืองไทยโดยผิดกฎหมาย เดือนมีนาคมเขาก็เดินทางโดยเครื่องบิน มุ่งหน้าไปยังกรุงโซล พร้อมกับผู้แปรพักตร์เกือบ 300 คนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
การปรับตัว
"เขาพูดไม่มีสำเนียงชาวเกาหลีเหนือสักนิด ถ้าไม่รู้ว่าเขามาจากที่นั่น ฉันคิดว่ากำลังพูดกับคนที่อยู่โซลมาตลอดชีวิต" คิม ซู อัน ล่ามภาษาเกาหลี เล่าให้บีบีซีไทยหลังจากได้คุยกับคิม ฮัก มิน ผ่านคาคาโอทอล์ค ซึ่งเป็นแอปฯ แชทยอดนิยมของเกาหลีใต้
คิม ฮัก มิน บอกว่ามันคือผลของการพยายามปรับตัวอย่างหนัก เขาพยายามเลียนสำเนียงของคนในโซล และไม่พูดสำเนียงเกาหลีเหนือให้จับได้ เพราะความอายและกลัวว่าผู้คนจะมองเขาผิดแผกไป
เพื่อนชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางมากับคิม ฮัก มิน ที่ไม่ขอเผยชื่อจริงเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เมื่อผู้แปรพักตร์เดินทางถึงกรุงโซลแล้ว พวกเขาจะต้องเข้าโปรแกรมปรับตัวระยะหนึ่ง จะได้รับมอบที่อยู่อาศัย รวมทั้งได้เงินรายเดือนเพียงพอที่จะอยู่รอดได้ก่อนที่จะหางานทำได้
คิม ฮัก มิน ก็เช่นกัน เขาเข้าโปรแกรมปรับตัวที่รัฐบาลเกาหลีใต้จัดให้อยู่ช่วงหนึ่ง พอออกจากโปรแกรมก็ต้องเผชิญกับชีวิตจริง เขาเริ่มเคว้งคว้างกังวลถึงอนาคต
ชายหนุ่มพบว่าการใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนในฝันไม่ง่ายเลย และรู้สึกสับสนไร้ทิศทางไปอยู่ปีกว่า ๆ จนเพื่อนคนหนึ่งก็เอาหนังสือประวัติชีวิตของสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลมาให้อ่าน เนื่องจากรู้ว่าเขาชื่นชอบไอโฟนอย่างมาก เขาบรรยายความรู้สึกที่มีต่อไอโฟน 4 ซึ่งวางขายในช่วงนั้นว่า "มันสวยและน่าทึ่งอย่างมาก"
เมื่อเขาอ่านประวัติของจอบส์จบลง เขาก็พบแนวทางแห่งชีวิตการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
"สตีฟ จอบส์ เปลี่ยนชีวิตผม หนังสือเล่มนั้นทำให้ผมเริ่มวางแผนชีวิต " คิม ฮัก มิน เล่า
เขาเริ่มที่การเรียนก่อน เขาเตรียมตัวอยู่หนึ่งปีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งอ่านหนังสือและสอบเพิ่มวิทยฐานะ พร้อมทั้งยื่นใบสมัครไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ หลายแห่ง ในที่สุดก็ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยโซกัง มหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงโซล ซึ่งให้ชายหนุ่มเข้าเรียนในสาขาวิศวกรรมเมื่อปี 2014
ในขณะที่เรียน เขาก็รับซ่อมอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ไปด้วย ผลงานการซ่อมที่ดีทำให้มีเพื่อนนักศึกษาเอาอุปกรณ์ของตัวเองมาให้เขาซ่อมแซมมากขึ้น ทำให้เขาเริ่มคิดถึงการตั้งธุรกิจ
"แนวคิดของจอบส์ที่ผมประทับใจมากก็คือ ให้เราเป็นตัวของตัวเอง อย่าใช้ชีวิตตามที่คนอื่นคาดหวัง จงเป็นตัวเองและแสดงความเป็นตัวเองให้ประจักษ์" คิม ฮัก มิน กล่าวพลางชี้ที่ตัวหนังสือที่อกเสื้อที่เขียนไว้ว่า " crazy one" พร้อมกับตราลูกแอปเปิลถูกกัดไปหนึ่งคำให้ดู
เขาตั้งชื่อร้านว่า "โซกัง จอบส์" โซกังมาจากชื่อมหาวิทยาลัย และจอบส์ก็หมายถึงสตีฟ จอบส์นั่นเอง
การเดินตามแนวคิดของจอบส์ทำให้เขาเดินหน้าธุรกิจไปได้ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์อะไร ภายในเวลาไม่ถึงสองปี ธุรกิจก็อยู่ตัวโดยมีพนักงานสามคน ร้านมีรายได้ราวเดือนละ 600,000-900,000 บาท และกำลังจะเจรจากับนายทุนรายใหญ่ที่จะเงินทุนไปตั้งร้านแห่งที่ 2 ในสิงคโปร์
มีสื่อหลากหลายทั้งในเกาหลีใต้และต่างประเทศอย่างยูเอสเอทูเดย์ เสนอข่าวความสำเร็จของหนุ่มผู้แปรพักตร์นี้
"ในตอนนี้ ผมเป็นหนึ่งในสองศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยโซกังที่มีชื่อเสียงที่สุด"หนุ่มร่างเล็กกล่าวเมื่อถามว่าอีกคนหนึ่งนั้นคือใคร คำตอบก็คือ "ปัก กึน เฮ" ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้ บีบีซีไทยแย้งว่าแต่ตอนนี้นางปักกึนเฮถูกปลดจากตำแหน่งและถูกดำเนินคดีมากมายเพราะเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง คิม ฮัก มิน ก็หัวเราะเสียงดังยาวนาน แล้วพูดภาษาอังกฤษว่า "ผมเรียนวิชาเอกเดียวกับเธอด้วยนะ"
การกลับมาของ "ศิษย์เก่า"
เมื่อบีบีซีไทยไปพบกับคิม ฮัก มิน ที่สนามบิน เขาเดินออกมาพร้อมกับรถเข็นที่เต็มไปด้วยกล่องมากมาย บรรจุเสื้อยืด ผ้าขนหนู อาหารเกาหลี ซึ่งเขาจะทำมาฝากไว้ที่ศูนย์กักผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามที่ต่าง ๆ ตามเมืองริมแม่น้ำโขงเพื่อฝากมอบให้กับคนเกาหลีเหนือที่หนีมาไทยแบบเขา
นอกจากนี้ก็ยังมีของเซ่นไหว้เพื่อนำมาทำพิธีรำลึกถึงชาวเกาหลีเหนือสองคนที่เสียชีวิตจากเรือล่มก่อนขึ้นฝั่งเมืองไทยเมื่อสองปีก่อน คิมฮักมินบอกว่าเขาอ่านรายข่าวเรื่องนี้ด้วยความเศร้าใจยิ่ง เพราะพวกเขาเกือบจะได้รับอิสระที่ใฝ่หาอยู่แล้ว
"เมื่อผมไม่ต้องกังวลเรื่องตัวเอง ผมก็เริ่มคิดถึงคนที่กำลังหนีออกมาจากเกาหลีเหนือที่น่าจะกำลังลำบาก" คิม ฮัก มิน กล่าว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คิม ฮัก มิน มาเมืองไทย เมื่อปีที่แล้วเขาก็เป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานที่ศูนย์กักฯ แห่งหนึ่งมาแล้ว
เมื่อคิม ฮัก มิน ไปพบกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์กักฯ ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่คนนั้นก็แนะนำเขาให้รู้จักกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อน ๆ โดยเรียกเขาว่า "ศิษย์เก่าของที่นี่"
"ไม่เคยมีผู้แปรพักตร์คนใดที่กลับมาที่นี่เลย คิม ฮัก มิน เป็นคนแรก" เจ้าหน้าที่กล่าวกับบีบีซีไทย
ที่ศูนย์กักฯ คิม ฮัก มิน ได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในห้องกักชาวเกาหลีเหนือโดยไม่ได้พบหน้ากับ คิม ฮัก มิน เล่าให้ฟังว่าผู้หญิงที่อยู่ในนั้นมีอาการหวาดกลัวและสับสนอย่างมาก"เหมือนอย่างที่ผมเคยรู้สึก ผมได้ให้ความมั่นใจไปว่าเมื่อไปถึงโซลแล้วพวกเธอจะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ ถ้าพวกเธอทำงานหนักมากพอ ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต"
เขาชี้ว่ากำลังใจเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการอย่างมาก บางคนอาจจะมีญาติพี่น้องในเกาหลีใต้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินได้ แต่บางคนไม่มีอะไรเลย
ความประทับใจในน้ำใจของคนไทยทั้งชาวบ้านธรรมดาและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายเป็นแรงกระตุ้นทำให้เขาอยากกลับมาด้วย
"ผมรู้สึกถึงน้ำใสใจจริงของพวกเขา เหมือนเมื่อวานนี้ที่เราได้พบกับเจ้าหน้าที่ ผมรู้สึกว่าเขาอยากจะช่วย ผมรู้สึกว่าคนไทยมีน้ำใจจะช่วยเหลืออย่างแท้จริง" คิม ฮัก มิน กล่าว
เมื่อจะจบการสัมภาษณ์ คิม ฮัก มิน บอกว่าเขาอยากจะพูดอะไรบางอย่างเพื่อสื่อสารถึงคนอื่น ๆ
"ในโลกนี้ ยังมีคนที่ลี้ภัยจากประเทศอีกมากที่ไม่ใช่แค่คนเกาหลีเหนือ ผมคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือคนที่ต้องการ"Cr:: BBCTHAI