ในโลกนี้มีแค่ไทยที่อยู่ไฟ หมอสูติฯ เผยความเชื่อผิด ๆ ยิ่งอยู่หนังยิ่งเหี่ยว
ระบุ ความเชื่อนี้ เป็น Thailand Only ทั้งโลกมีแค่ไทยเท่านั้น ที่เชื่อเรื่อง"อยู่ไฟ" บอกมันผิดเพราะยิ่งอยู่นานแทนที่จะดีหนังยิ่งเหี่ยวซะงั้น
วิธีการอยู่ไฟที่ถูกต้อง 'ในอดีต' นั้น หญิงผู้อยู่ไฟ จะต้องนอนบนกระดานแผ่นเดียวในห้องมิดชิด ห้ามเปิดประตูและหน้าต่าง
ต้องนอนตะแคงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อช่วยให้แผลผสานได้เร็วขึ้น
ข้อห้ามที่สำคัญคือ ภายในห้องต้องไม่เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อกันไม่ให้ลมเข้า ส่วนไฟก็ต้องระวังไม่ให้ดับ ภายในห้องจึงร้อนและอบมาก
การแพทย์แผนไทยเชื่อว่าจะดีกับแม่ เพราะช่วยขับน้ำคาวปลาออกจนหมด ซึ่งทำให้มดลูกแห้ง เข้าอู่เร็วขึ้น เมื่อเลือดไม่ดีถูกขับออกไปหมดก็จะทำให้ไม่เกิดเลือดเป็นพิษ น้ำนมก็จะไม่เป็นอันตรายต่อลูก
การอยู่ไฟนี้กินเวลาประมาณ 15-30 วัน
หมอบรัดเลย์เดินทางมาถึงเมืองไทยใน พ.ศ. 2378 และเสียชีวิต พ.ศ. 2416 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4
หมอบรัดเลย์ได้นำความรู้ทางการแพทย์ตะวันตกมาใช้จนเป็นที่ประจักษ์ เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ
และยังได้พิมพ์หนังสือ "ครรภ์รักษา" อันเป็นตำราแพทย์แบบตะวันตก ซึ่งกล่าวถึงการตั้งครรภ์และการคลอด ซึ่งมีหลักการที่ขัดกับ การอยู่ไฟ ชัด ๆ
"ต้องให้เขา (แม่หลังคลอด) นอนในห้องที่สงัดมีลมพัดเย็น ๆ
อย่าให้อยู่ไฟเลย ความร้อนของไฟนั้น มักให้จับไข้ ให้ผิวหนังแห้งเหี่ยวไป ไม่เป็นปกติ ให้้เกิดโรคต่าง ๆ"
โดยต่อมา สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็มีนโยบายชักชวนให้เลิกการอยู่ไฟ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นวิธีทรมาน และทรงเรียกว่าเป็น "อาชญากรรมอันโหดร้ายทารุณ และโง่เขลาเบาปัญญาที่ผู้หญิง
ต้องทนอยู่ในสภาพแบบนี้"
ล่วงมาจนรัชสมัยราชการที่ 5
เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประสูติพระราชโอรส
ใน พ.ศ. 2432 พระองค์ทรงมีไข้ จนพระองค์ตัดสินพระทัย
เลิกการอยู่ไฟและให้หมอรักษาตามวิธีตะวันตก ซึ่งปรากฏผลดี ตั้งแต่นั้นมา ก็ทรงสนับสนุนให้เลิกการอยู่ไฟทำให้ผู้หญิงในราชสำนักเริ่มทำตาม
โรงพยาบาลศิริราชตั้งขึ้นในปี 2431
ในระยะแรกผู้ที่คลอดใน รพ. มักขอให้ใช้วิธีดั้งเดิมในการคลอด
คือ ให้วงสายสิญจ์และแขวนยันต์รอบห้อง พร้อมขอให้มีการอยู่ไฟหลังคลอด
แม้ว่าหมอและพยาบาลจะชักชวนให้ใช้วิธีแผนใหม่ แต่ก็ไม่มีใครยอม
(.. จริง ๆ สมัยนั้นน่าจะมีการคลอดเองที่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ..)
.
และต่อมาจึงมีการจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์ตามแบบตะวันตกขึ้นใน ศิริราช เปิดทำการในปี พ.ศ. 2439
ปัจจุบันก็ยังมีการอยู่ไฟอยู่ แต่ก็ไม่ได้งาม ไม่ได้ผ่องมีน้ำมีนวลผอมไว หุ่นดีอย่างแม่การะเกดนะครับ
ถ้าไฟแรงไป อยู่ในที่อบเกินไป คุณแม่หลังคลอดบางคนก็งอมมาเลย
ปากแห้ง หน้าซีด ตาโบ๋ ผมกรอบฟู ประเมินด้วยตาความสากคงระดับไม้กวาด สภาพจะเป็น แม่ผักกระเฉดแห้งเหี่ยว มากกว่าจะเป็นแม่การะเกด นะครับ
คิดถึงยามอากาศร้อน ต้องไป ย่างไฟกันอีก (..แถวบ้านผมเรียก ย่าง คงเห็นภาพนะครับ....)
แค่คิดก็ปากแห้งเหนียวคอแล้วใช่ไหมครับ
ปัจจุบันก็เห็นว่า การแพทย์แผนไทยมีการปรับเปลี่ยน ประยุกต์
ให้เหมาะสม ปลอดภัยมากขึ้น ไฟเบาลง ทำไม่นานระยะเวลา
เป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวัน ๆ เหมือนเมื่อก่อน ... ก็เรียกว่าอยู่ไฟกันเล่นๆก็แล้วกันนะครับ
ดูบุพเพฯก็เลยรู้ว่า อยู่ไฟมีกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ใครเป็นคนคิดริเริ่มเป็นผู้แรก ก็ยังสืบสาวไปได้ไม่รู้ความ
แต่ที่แน่ๆ นางทองกีมาร์ มิได้อยู่ไฟ แสดงว่าคนกรีก คนฝรั่งเศสไม่ได้มีประเพณีอยู่ไฟ
ถ้าคุณแม่ว่างๆ ลองไปเปิดกูเกิล ค้นดูสิว่า
คนจีน วัฒนธรรม 4000 ปีมีอยู่ไฟมั๊ย........ไม่มี
ญี่ปุ่น มีอยู่ไฟมั๊ย....................................ไม่มี
ดูหนังเกาหลีมาหลายเรื่องแล้ว มีอยู่ไฟมั๊ย...ไม่มี
อเมริกา มีอยู่ไฟมั๊ย.................................ไม่มี
อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลันลา....ล้วนไม่มีอยู่ไฟ
แล้วใยทำไมกรุงศรีอยุธยาดันมีอยู่ไฟ
นี่แหละยังหาต้นตอของ Thailand Only นี้ไม่ได้จนถึงปัจจุบันนี้
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ คราสและควินิน โดย พิพัฒน์ พสุธารชาติ"Cr::: FB นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์