ในวันที่รู้สึกว่าเป็นลูกนอกสายตาพ่อแม่.. ทำอย่างไรเมื่อคุณเป็นแบบ ‘ภัสสร’ ในละคร “เลือดข้นคนจาง”


ในวันที่รู้สึกว่าเป็นลูกนอกสายตาพ่อแม่.. ทำอย่างไรเมื่อคุณเป็นแบบ ‘ภัสสร’ ในละคร “เลือดข้นคนจาง”

#ในวันที่รู้สึกว่าเป็นลูกนอกสายตาพ่อแม่

มีคนถามหมอว่า หมอจะเขียนเกี่ยวกับละครเรื่อง ‘เลือดข้นคนจาง’ หรือไม่ และแนะนำว่า มีประเด็นที่น่าเขียนถึง คือเรื่องความน้อยใจของลูกสาวอย่าง ’ภัสสร’ ที่เกิดในครอบครัวคนจีนและรู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่ได้รักเท่าๆกับพี่น้องคนอื่น เพียงเพราะว่าเป็นผู้หญิง


หมอคิดว่า ภัสสรไม่ได้ผิดที่เกิดมาเป็นผู้หญิงหรอก ผู้หญิงที่ดีและมีความสามารถมีมากมาย ภัสสรเองก็เช่นกัน แต่เพราะมุมมองต่อตัวเองของเธอต่างหากที่ทำให้เกิดความทุกข์

‘ภัสสร’ เป็นลูกสาวคนเดียวพ่อแม่(ที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอมีน้องสาวอีกคนแต่เสียชีวิตไปแล้ว) พี่ชายสองคนและน้องชายหนึ่งคน ศูนย์รวมใจของครอบครัวคือพ่อของเธอ หรือ ‘ป๊า’ ที่ทุกคนในบ้านเรียกขานด้วยความรักและเคารพ


ความปั่นป่วนเกิดขึ้นในวันที่ป๊าเสียชีวิตไปกะทันหัน มรดกมากมายที่ป๊าทิ้งเอาไว้ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งและความรู้สึกไม่ยุติธรรม เพราะป๊ายกมรดกที่เป็นหุ้นกิจการโรงแรมให้กับลูกชาย3คนและหลานชายที่เป็นลูกของพี่ชายคนโตของภัสสรเท่านั้น ภัสสรที่เป็นลูกสาวกลับไม่ได้มีส่วนในหุ้นของโรงแรมเลย ทั้งที่เธอทำหน้าที่บริหารงานและช่วยงานของป๊าอย่างดีมาตลอดหลายปี ภัสสรรู้สึกผิดหวังและน้อยใจมาก

เพราะการรับรู้รายละเอียดในพินัยกรรมที่เป็นความปรารถนาสุดท้ายของป๊า เป็นเหมือนการกรีดซ้ำลงไปบนรอยแผลเป็นที่อยู่ในใจมานาน


คนที่มีประสบการณ์วัยเด็กอย่างภัสสร มักมีความทุกข์ได้ง่าย เพราะสุขทุกข์ในชีวิตล้วนขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆหรือคนรอบข้างภายนอก ไม่ได้มาจากภายในตัวเอง

หลายครั้งคนเช่นภัสสรจึงพยายามที่จะควบคุมทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปตามที่ต้องการ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นก็โชคดีไป แต่บางครั้งเมื่อการควบคุมทำได้ยาก อาจทำให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่มีผลกระทบทางลบต่อตนเองและคนอื่น จึงเป็นเรื่องที่อันตราย


"ม้าอยากจะอธิบายว่าทำไมป๊าต้องแบ่งพินัยกรรมแบบนี้" ผู้เป็นแม่พยายามอธิบายให้ลูกสาวคนเดียวฟัง

"ไม่ต้องอธิบายก็ได้ม้า หนูไม่แปลกใจเลย บ้านเรามันก็เป็นแบบนี้มาตลอด ม้าจำได้มั้ย แต่ก่อนเวลาบ้านเรากินข้าวกัน ม้าจะคีบก้ามปูให้พวกเฮีย(พี่ชาย)ตลอด ลูกสาวไม่เคยได้กินของดีๆหรอก หนูอาจจะโง่เองที่คิดว่าถ้าจะทำตัวให้เก่ง ไม่ใช่แค่เก่งเท่าเฮียนะ แต่ต้องเก่งกว่า แต่วันนี้มันก็พิสูจน์ได้แล้วว่าหนูคิดผิด ถึงจะพยายามแค่ไหน ก็หนูไม่เคยอยู่ในสายตาของป๊าม้า" คำพูดที่เก็บเอาไว้ในส่วนลึกตลอดมาหลั่งไหลเหมือนทำนบแตก

"ลื้อทำไมต้องคิดเล็กๆน้อยๆ ไม่เข้าเรื่องเลย อยู่ด้วยกันมาตั้งนานแบบนี้ไม่เข้าใจเหรอ ว่าอะไรมันต้องต้องเป็นยังไง"

"ม้าต่างหากที่ไม่เข้าใจ"



ในวันที่รู้สึกว่าเป็นลูกนอกสายตาพ่อแม่.. ทำอย่างไรเมื่อคุณเป็นแบบ ‘ภัสสร’ ในละคร “เลือดข้นคนจาง”

ภัสสรรู้สึกว่าตั้งแต่ที่เธอเกิดมาในบ้าน ลูกสาวอย่างเธอก็เป็นเหมือนพลเมืองชั้นสองที่ไม่มีวันได้รับความรักจากพ่อแม่เท่าพี่น้องผู้ชาย เธอจึงพยายามทุกทางเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นคนควรได้รับความรักทัดเทียมกับพี่น้อง

ไม่ว่าจะพยายามเรียนให้เก่ง ทำงานให้ดี แต่งงานและมีลูกที่ดี แถมลูกสี่คนของเธอเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับลูกชายคนเดียวของพี่ชายคนโตอยู่ดี

น่าเห็นใจภัสสร ทั้งที่ตัวเธอเองมีความสามารถโดดเด่น มีชีวิตที่ดี มีคุณค่าและงดงามเพรียบพร้อมในสายตาของคนรอบข้าง แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา อาจจะกลายเป็นม่านบังตา ทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเองที่มีอยู่

เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ให้ความสำคัญกับเธอเท่าไหร่ ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับ โดยเฉพาะจากคนที่รักและไว้ใจอย่างพ่อแม่ มีความสำคัญในการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมามีมุมมองต่อตัวเองและคนรอบข้างอย่างไร

ถ้าพ่อแม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรักและความเอาใจใส่สม่ำเสมอ เป็นที่พึ่งพาทางใจของเด็กได้ จะทำให้เด็กเติบโตอย่างรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ว่าพ่อแม่รักและยอมรับในตัวตนอย่างที่เป็น


ไม่ได้ต้องเกิดมาเป็นหญิงหรือชาย ไม่ต้องเรียนเก่ง ไม่ต้องหน้าตาน่ารักกว่าใคร พ่อแม่ก็รักอย่างไม่มีเงื่อนไข

เด็กคนนั้นก็จะเติบโตขึ้นไปอย่างรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความภาคภูมิใจ มีความเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับอุปสรรคต่างๆในชีวิตได้

แต่ภัสสรรู้สึกตรงกันข้าม ความเป็นตัวตนของเธอที่เป็นหญิงนั้น กลายเป็นสิ่งที่กีดขวางความรักและการยอมรับของพ่อแม่ ทำให้เธอเติบโตมาอย่างขาดการยอมรับในตัวตนภายใน ไม่เชื่อมั่นใจตัวเอง มีความไม่มั่นคงทางใจอยู่ลึกๆ

แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่กลับคิดว่าตัวเองไม่เก่งไม่ดี มองเห็นแต่ข้อด้อยของตัวเอง ต้องคอยหาสิ่งต่างๆภายนอกที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตัวเองมีอะไรดี และเมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับคล้ายกับที่เคยเป็นมาตอนเด็กๆ จึงเกิดความรู้สึกไม่ดีอย่างหนักหนามากกว่าปกติ เหมือนที่ภัสสรรู้สึกจนเป็นอารมณ์อย่างมากเมื่อรู้ความจริงในพินัยกรรม การแสดงออกของเธอจึงดูเหมือนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีสติตั้งมั่นและเหมาะสม


สิ่งสำคัญต่อไปก็คือ การกระทำของภัสสรกับเรื่องที่เกิด ว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะเผลอทำให้เรื่องที่ไม่ถูกต้องเพื่อชดเชยปมในใจหรือไม่ แต่หมอคิดว่าภัสสรเป็นคนโชคดี เพราะมีสามีและลูกที่ให้กำลังใจ ตรงนี้ทำให้หมอเชื่อว่า ภัสสรจะไม่ทำในเรื่องที่ขาดสติ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งต่างๆที่หล่อหลอมคนเราให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในทุกวันนี้ มักมีส่วนจากประสบการณ์วัยเด็ก โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของพ่อแม่และคนใกล้ชิด แต่ขณะเดียวกัน ตัวของเราก็สำคัญที่สุดที่จะควบคุมการกระทำต่างๆให้อยู่บนพื้นฐานของสติและขอบเขต

ไม่มีใครที่เปลี่ยนอดีตของตัวเองได้ แต่เราทำปัจจุบันและพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นได้ อยู่ที่ใจของเราเองนั่นแหละ


ที่มา FB : เข็นเด็กขึ้นภูเขา


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์