เปิดตำนานนางนพมาศที่“กรมศิลป์” ชี้ชัด ไม่มีจริง เป็นแค่เรื่องแต่ง
"กรมศิลปากรได้แก้ไขข้อมูลเรื่อง ‘นางนพมาศ' อย่างเป็นทางการแล้วว่า นางนพมาศไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้เป็นคนคิดเรื่องลอยกระทง ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องถูกแต่งขึ้น โดยคนแต่งสมมติว่าเกิดในสมัยสุโขทัย ฉะนั้นเลิกเชื่อและเลิกพูดเลิกสอนได้แล้วว่า ลอยกระทงเกิดโดยนางนพมาศและเกิดสมัยสุโขทัย เกิดที่กรุงสุโขทัย ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่รู้ชัดว่าทำไมแต่งแบบนั้น มีวัตถุประสงค์อะไรแน่"
"ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น พระองค์จึงโปรดใหเฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และได้พระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง นางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง"
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ทรงพระวินิฉัยว่า หนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ น่าจะถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เองโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี 2457 ว่า
"ว่าโดยทางโวหาร ใครๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่"
นางนพมาศ เป็นธิดาของ พระศรีมโหสถ กับนางเรวดี เกิดในรัชกาลพญาเลอไท กษัตริย์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง มีรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่งดงาม ได้รับการอบรมจากบิดามาร อีกทั้งยังมีความรู้ทางอักษร พระพุทธศาสนา การช่างของสตรี รวมไปถึงการขับร้องเสียงดนตรี ด้วยความที่นางนพมาศ มีความเพียบพร้อมทุกด้าน ทำให้นางได้เข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท หลังจากเข้ารับราชการ นางนพมาศก็ได้ขึ้นมาเป็นสนมเอก และเปลี่ยนชื่อเป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า นางนพมาศเป็นสตรีที่ความเพียบพร้อมทุกเรื่อง อีกทั้งยังทำคุณงามความดี เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงอยู่เสมอ แต่มีเหตุการณ์สำคัญๆ อยู่ 3 เหตุการณ์ ได้แก่
ภายหลังที่นางนพมาศได้เข้าวังได้เพียง 5 วันเท่านั้น ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน นำไปถวายพระร่วงเจ้า เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงเจ้ามาก
ในเดือนห้า มีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
นางนพมาศได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่า แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้
"ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน"