สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค


สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค

ปัจจุบันคนไทยนิยมกินบุฟเฟ่ต์มากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีร้านปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบู สุกี้ จิ้มจุ่ม เปิดมากมายทั่วทุกพื้นที่ แต่รู้หรือไม่ว่า มีอันตรายซุกซ่อนอยู่ในความอร่อยทั้งหลายเหล่านี้

วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องการใช้ "ตะเกียบ" อุปกรณ์คู่กายสุดอันตราย ที่เป็นตัวนำพาเชื้อโรค หรือ พยาธิต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสายบุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่มักจะเคยชินกับการใช้ตะเกียบคีบของสดที่อยู่ในถาดขึ้นมาปิ้งย่างบนกระทะ หรือจุ่มลงในหม้อสุกี้ จากนั้น ก็ใช้ตะเกียบคู่เดิมคีบเนื้อที่สุกแล้วมารับประทาน โดยที่ไม่รู้ว่าเชื้อโรค หรือพยาธิต่างๆ มักจะติดมากับตะเกียบเหล่านี้

พฤติกรรมการกินที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้ร่ายกายติดเชื้อต่างๆ เช่น ติดเชื้อพยาธิ ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดหนึ่งที่ เรียกว่า "โรคไข้หูดับ"




สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค


จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับ ปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งหมด 338 ราย เสียชีวิต 29 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 106 ราย รองลงมาคือ 55-64 ปี จำนวน 89 ราย และ 45-54 ปี จำนวน 85 ราย เดือนที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือพฤษภาคม จำนวน 50 ราย รองลงมาคือเดือนเมษายน จำนวน 45 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับมากที่สุดคือเมษายน จำนวน 5 ราย

สำหรับในปี 2562 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 มีนาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 50 ราย เสียชีวิต 10 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีโอกาสสูงที่จะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ต่างๆ เพราะอาจมีการนำเนื้อหมู มาประกอบอาหารแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ในงานเลี้ยงหรือทำกินเองในครอบครัว




สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค


รู้จักกันให้มากขึ้นกับ "โรคไข้หูดับ"

โรคไข้หูดับ เกิดจากการติดเชื้อสเต็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย และก่อให้เกิดโรคติดต่อจากหมูสู่คน

สำหรับการ "ติดต่อ" ของโรคไข้หูดับนั้น สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล หรือรอยขีดข่วนที่เกิดขึ้นตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา

2.การบริโภคเนื้อหมูและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ อาจทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบ และเสื่อมจนหูหนวกถาวร และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้




สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค

คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง "โรคไข้หูดับ" หรือไม่?

กลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคไข้หูดับ ได้แก่ กลุ่มที่ชอบรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ รวมไปถึงผู้ที่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่สัมผัสกับเนื้อหมูดิบ อย่างเช่น "ตะเกียบ"

ขณะที่ กลุ่มผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เมื่อติดเชื้ออาจเกิดอาการป่วยรุนแรงได้




สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค


เช็คอาการโรคไข้หูดับ

ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หูดับ จะมีอาการไข้สูง และมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่ การปวดศีรษะรุนแรง คอแข็งเกร็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง บางรายอาจมีอาการการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ การติดเชื้อในข้อ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเส้นประสาทหู ทำให้สูญเสียการได้ยินหรือหูดับ รวมถึงมีปัญหาการทรงตัว และเวียนศีรษะร่วมด้วย

ดังนั้น หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์และบอกประวัติการรับประทานหมูดิบ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษาโดยเร็ว ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มักตอบสนองได้ดีและรักษาให้หายขาดได้ โดยระยะเวลาในการให้ยาปฏิชีวนะ ควรให้นานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากรักษาล่าช้า ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้




สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! ภัยเงียบตะเกียบคีบหมูดิบเสี่ยงโรค

วิธีป้องกัน ลดเสี่ยง "โรคไข้หูดับ"

1.ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์

2.ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

3.หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ปรุงอาหารและนำอาหารเข้าปากร่วมกัน เช่น การใช้ตะเกียบคีบอาหาร

4.ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงหมู หรือแล่เนื้อหมู ควรสวมถุงมือ สวมรองเท้า และใส่เสื้อผ้าที่รัดกุมก่อนสัมผัสเนื้อหมู หรือสารคัดหลั่งต่างๆ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง



เครดิตแหล่งข้อมูล : tnnthailand





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์